18 ตุลาคม 2553 4815 ครั้ง
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการส่งออกได้มีการประเมินปัญหาของผู้ส่งออกไทยเป็นรายสินค้าจากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทในเบื้องต้น พบว่ามีสูงถึง 15 อุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง โดยสินค้าส่งออกไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง และกำลังมีปัญหาที่ผู้ซื้อในต่างประเทศหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งมากขึ้น โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เชื่อว่าจะกระทบต่อการส่งออกในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้แน่
ทั้งนี้ 15 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า มีดังนี้
1. อุตสาหกรรมเครื่องหนัง
2. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
3. อุตสาหกรรมยานยนต์
4. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
5. อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป ได้รับผลกระทบมาก ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ และการซื้อเงินต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) ไม่สามารถทำได้ทุกราย โดยเฉพาะ SMEs อาจจะมีการทยอยปิดโรงงานในเร็วๆ นี้
6. กลุ่มสมุนไพร แจ้งว่าโค้ดราคาได้ลำบาก เพราะส่วนใหญ่คำสั่งซื้อรับล่วงหน้า 6-10 เดือน มีการปรับราคาได้ยาก มีปัญหาการขาดทุน
7. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม
8. สินค้าเกษตร และสินค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น แป้งมัน เดิมมีการรับซื้ออยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 4 บาท เหลือ 2.50 บาท ส่วนแห อวน การส่งออกได้รับผลกระทบ
9. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) สูง ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก
10. อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์
11. อุตสาหกรรมไก่สดแช่แข็ง มีมูลค่าตลาดประมาณ 200,000 ล้านบาท เป็นการผลิตเพื่อส่งออก 80% ใช้วัตถุดิบในประเทศค่อนข้างสูง จึงได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรุนแรง ประกอบกับการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าจะรับ 6 เดือน ซึ่งขณะนั้น คิดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32 บาท
12. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
13. อุตสาหกรรมน้ำตาล ผลผลิต 75% ส่งออก อัตราส่วนแบ่งผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่กับผู้ประกอบการในอัตราส่วน 70:30 ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยที่จะเริ่มเปิดหีบในเดือนพฤศจิกายนนี้
14. อุตสาหกรรมเซรามิค
15. อุตสาหกรรมยาง ได้รับผลกระทบ เพราะผลผลิตส่วนใหญ่เพื่อการส่งออก แต่ยังโชคดีที่ในช่วงที่ผ่านมา ราคาค่อนข้างสูง ทำให้แม้เงินบาทแข็งค่าแต่ก็ยังมีกำไรอยู่ ขณะที่คู่แข่งอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ก็ประสบปัญหาค่าเงินแข็งค่าเหมือนกัน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ