สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันการศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ จุฬาฯ ม.เกษตรศาสตร์ และ ม.สยาม ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างผลไม้จากแหล่งจำหน่าย 38 ร้านค้า 161 ชนิด ที่วางขายอยู่ทั่วไปทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ช่วงเดือนสิงหาคม 2553 เพื่อพิสูจน์อันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคหลังจากที่มีผู้บริโภคร้องเรียนมาที่สคบ.
โดยใช้ชุดทดสอบการปนเปื้อนในอาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 4 รายการ ได้แก่ ชุดทดสอบหาสารฆ่าแมลงในอาหาร ทดสอบกรดซาลิซิลิกหรือสารกันราในอาหาร ชุดทดสอบสีสังเคราะห์ในอาหาร และชุดทดสอบโคลิฟอร์ม (เชื้อจุลินทรีย์) ในอาหาร
จากการทดสอบพบว่าผลไม้ 153 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนของ เชื้อจุลินทรีย์ เกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดถึง 67.3% ที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร พบการปนเปื้อนของ สีสังเคราะห์ มากถึง 16.3% ในตัวอย่างผลไม้ 161 ตัวอย่าง และพบการปนเปื้อนของ สารกันรา 40.7% ในขณะที่ไม่พบการปนเปื้อนของ สารฆ่าแมลง ในผลไม้สดแต่อย่างใด ส่วนผลไม้ดอง พบการปนเปื้อนหรือเจือปนของ สีสังเคราะห์ สารเคมี และสารกันรา ที่ก่อให้เกิดอันตรายถึง 64.2% จาก ฝรั่งดอง บ๊วยดองที่มีสีเขียวสดใส สีเขียวเข้ม และสีแดงเข้ม
ทั้งนี้ ได้ให้เวลาผู้ประกอบการแก้ไข หากไม่แก้ไข เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับภายใน 3 เดือน ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด
ที่มา : บ้านเมืองออนไลน์