TH EN
A A A

สวทช. หวังไทยยอมรับพืช GMO

5 ตุลาคม 2553   
ในเวทีเสวนา "จับกระแสพืช GMO ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยที่น่าจับตา" ที่จัดขึ้นโดยศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่ไทยไม่ควรปฏิเสธ หากเป็นทางออกที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้ประเทศมีความมั่นคงทางด้านอาหาร และความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ หน่วยบริหารจัดการความรู้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค สวทช.) กล่าวว่า ขณะนี้เกือบทุกประเทศทั่วโลกมีการวิจัยพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือพืช GMO อย่างกว้างขวาง โดยสหภาพยุโรปมีการวิจัยทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและภาคสนามตั้งแต่ปี 2534 พืช GMO ที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยและปลูกกันเชิงการค้า ได้แก่ ข้าวโพดบีทีต้านทานหนอนแมลง ถั่วเหลืองต้านสารปราบวัชพืช ฝ้ายบีทีต้านทานหนอนแมลง คาโนลาต้านสารปราบวัชพืช คาร์เนชั่นสีม่วง ตลอดจนมะละกอต้านโรคไวรัส จากการที่มีการปลูกพืช GMO ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2536 -2550 พบว่าปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและสารปราบวัชพืชลดลง 8.8% หรือคิดเป็น 359 ล้านกิโลกรัมต่อปี และลดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม 17.2% ทั้งนี้ การวิจัยพัฒนาพืช GMOในไทย เน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพต้านทานโรค และเสริมสร้างลักษณะที่ดีของผลผลิต ได้แก่ มะละกอต้านทานโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวน มะเขือเทศต้านทานโรคไวรัสใบหงิกเหลือง และกล้วยไม้ที่อายุการปักแจกันยาวนานขึ้น แต่ยังไม่มีการอนุญาตให้ปลูกพืชในเชิงการค้า ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?