TH EN
A A A

อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอินโดฯ น่าเป็นห่วง หลังกรีนพีซรณรงค์หยุดใช้น้ำมันปาล์ม

11 กันยายน 2553   
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียกำลังได้รับผลกระทบจากแผนระงับการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าของรัฐบาล รวมถึงการที่บริษัทต่างชาติหลายแห่งหยุดซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากอินโดนีเซีย หลังกรีนพีซรณรงค์ให้หยุดใช้น้ำมันปาล์ม เนื่องจากการทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หากนโยบายระงับการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าที่ระบุในหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างอินโดนีเซียกับนอร์เวย์มีผลบังคับใช้จะทำให้อินโดนีเซียไม่มีพื้นที่สำหรับขยายการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตลดลง และสั่นคลอนสถานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ที่สุดของโลกในที่สุด นอกจากนั้น สัดส่วนการปลูกปาล์ม 40% ของทั้งประเทศยังเป็นของประชาชนทั่วไป ซึ่งหมายความว่า ประชาชนกว่า 10 ล้านคนหรือราว 2.8 ล้านครัวเรือนซึ่งปลูกปาล์มขายจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากการที่เบอร์เกอร์ คิง ตัดสินใจหยุดซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากบริษัท พีที ซีนาร์ มาส อะโกร แอนด์ รีซอร์สเซส เทคโนโลยี (SMART) เมื่อต้นเดือน หลังจากที่บริษัท เช่น ยูนิลีเวอร์, เนสท์เล่ และ คราฟท์ หยุดซื้อไปแล้วก่อนหน้านี้ ในขณะที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรีนพีซเพียงแต่เปิดเผยว่าบรรดาบริษัทน้ำมันปาล์มไม่ทำตามกฎหมายของอินนีเซียอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ได้ต่อต้านการพัฒนาหรือต่อต้านอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มตราบใดที่ทุกบริษัทให้คำมั่นว่าจะทำอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยอดส่งออกน้ำมันปาล์มดิบของอินโดนีเซียไปยังฝรั่งเศสลดลง 38% จากระดับ 57.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เหลือเพียง 35.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 อันเนื่องมาจากปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ฮัตตา ราจาสา รัฐมนตรีกระทรวงการประสานงานเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลจะยังคงสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบในประเทศต่อไป และแสดงความหวังว่าการที่น้ำมันปาล์มดิบของอินโดนีเซียถูกแบนไม่ควรเกิดขึ้นจากคนเพียงกลุ่มเดียว ที่มา : Infoquest

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?