ออสเตรเลียสั่งยกเลิกกักกันข้าวหอมมะลิไทยและอนุญาตให้บริโภคในประเทศได้หลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จี้พิสูจน์สารตกค้าง ผลการตรวจซ้ำไม่พบสารเมวินฟอสตกค้างในข้าวหอมมะลิไทยส่งออกไปออสเตรเลีย นางเสาวนิตย์ พงษ์ประไพ อัครราชทูตที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงแคนเบอร่า ประเทศออสเตรเลีย เปิดเผยความคืบหน้าว่า กรณีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2550 จากการที่สำนักงานตรวจสอบและกักกันของออสเตรเลียตรวจพบว่าตัวอย่างจากข้าวสารหอมมะลิไทยยี่ห้อหนึ่งที่นำเข้าไปในออสเตรเลียปนเปื้อนสารเมวินฟอสซึ่งเป็นสารเคมีใช้ในการกำจัดศัตรูพืชในนาข้าว โดยพบในระดับสูงถึง 7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ขณะที่มาตรฐานสากลให้ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และออสเตรเลียได้ออกคำสั่งกักกันสินค้าล็อตดังกล่าวรวมทั้งเรียกคืนสินค้าบางส่วนที่ได้วางจำหน่ายในตลาดแล้ว
นอกจากนั้นยังแจ้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายความปลอดภัยของอาหารขององค์การอนามัยโลกเพื่อแจ้งเตือนภัยสมาชิกต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ มกอช.
กรมวิชาการเกษตรร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงแคนเบอร่าดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้เป็นการด่วนเพราะหากศูนย์ประสานงานองค์การอนามัยโลกแจ้งข้อมูลดังกล่าวแก่สมาชิกทั่วโลกแล้วจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ข้าวไทยอย่างแน่นอน
เนื่องจากข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยและที่ผ่านมาได้รับการยอมรับด้านคุณภาพมาตรฐานมาโดยตลอด สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงได้ประสานงานศูนย์ประสานงานขององค์การอนามัยโลกขอให้ชะลอการประกาศแจ้งเตือนภัยก่อน เพื่อขอตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง เนื่องจากเป็นที่น่าสงสัยในผลการตรวจพบเนื่องจากปริมาณการตรวจพบสูงเกินกว่าระดับปกติ
นอกจากนั้น สารเมวินฟอสเป็นสารเคมีที่ประเทศไทยห้ามใช้ ห้ามจำหน่ายตั้งแต่ปี 2545 กรมวิชาการเกษตรจึงได้เก็บตัวอย่างข้าวสารล็อตดังกล่าวจากบริษัทผู้ส่งออกและตัวอย่างจากโรงสีที่ขายข้าวสารลอตนี้ให้ผู้ส่งออกไปตรวจสอบผลปรากฏว่าไม่พบสารปนเปื้อน นอกจากนั้น ได้ประสานงานสำนักงานตรวจสอบและกักกันของออสเตรเลียขอให้มีการตรวจสอบซ้ำข้าวล็อตเดียวกันที่ยังถูกกักกันอยู่ที่ออสเตรเลียโดยห้องปฏิบัติการที่ออสเตรเลียรับรองรวมทั้งส่งกลับมาตรวจสอบที่กรมวิชาการเกษตรด้วย ผลปรากฎว่าไม่พบสารตกค้างแต่อย่างใด และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 ออสเตรเลียประกาศยกเลิกการกันกันข้าวไทยดังกล่าวและให้เข้าจำหน่ายในออสเตรเลียแล้ว รวมทั้งแจ้งข้อมูลให้ศูนย์ประสานงานองค์การอนามัยโลก