ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เผยรายงานฉบับล่าสุดระบุว่า การใช้จ่ายของกลุ่มชนกลางในเอเชียเพิ่มมาอยู่ที่ 4.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2551 และมีแนวโน้มที่จะทะยานขึ้นไปแตะระดับ 32 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 คิดเป็นสัดส่วน 43% ของยอดบริโภคทั่วโลก
นายจอง หวา ลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ADB ระบุว่า ชนชั้นกลางในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชีย ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านขนาด และอำนาจทางการซื้อ มีแนวโน้มที่จะรับหน้าที่ต่อกลุ่มชนชั้นกลางในสหรัฐฯ และยุโรป ในฐานะกลุ่มผู้บริโภคหลักของโลก ทั้งยังมีความสำคัญมากขึ้นในฐานะแรงขับเคลื่อนที่จะช่วยปรับสมดุลของเศรษฐกิจโลก
จากรายงานชี้ว่า แม้แต่ในช่วงเศรษฐกิจโลกถดถอย การใช้จ่ายของผู้บริโภคในเอเชียก็แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นอย่างน่าประหลาดใจ โดยหากรัฐบาลแต่ละประเทศ มีการจัดทำนโยบายที่เป็นมิตรกับชนชั้นกลางอย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้ให้เอเชียสามารถสลัดการพึ่งพาภาคส่งออกเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อผลกระทบจากภายนอกประเทศ อย่างวิกฤติการเงินเมื่อปี 2551 ได้
นอกจากนี้ ยังจะช่วยปรับภาวะขาดความสมดุลของเศรษฐกิจโลกที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นสาเหตุของวิกฤติดังกล่าวได้ด้วย ตามรายงาน ADB ให้คำนิยามชนชั้นกลางไว้ว่า เป็นผู้ที่ใช้จ่ายเงินราววันละ 2-20 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งหากยึดตามข้อกำหนดนี้ จะทำให้นับถึงปี 2551 เอเชียมีประชากรชนชั้นกลางอยู่ที่ 1,900 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2543 ถึง 56%
จีนถือเป็นประเทศที่มีชนชั้นกลางมากที่สุดถึง 817 ล้านคน หรือราว 63% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ตามด้วยอินเดีย 274 ล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของประชากรโดยรวม อันดับ 3 คืออินโดนีเซีย 102 ล้านคน
อย่างไรก็ดี รายงานตั้งข้อสังเกตว่า ชนชั้นกลางเกิดใหม่ของเอเชียส่วนใหญ่ มีรายได้อยู่เหนือระดับยากจนไม่มากนัก ทำให้คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงอย่างมาก ที่จะกลับไม่อยู่ในกลุ่มประชากรฐานะยากจนอีกทั้งอำนาจการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของคนกลุ่มนี้ยังทำให้เกิดความกังวลใหม่ๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขตามมาด้วย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ