งานวิจัยของ K. Yamagishi และคณะซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition (online 4 สิงหาคม 2553) ระบุว่า การบริโภคไขมันอิ่มตัวในปริมาณที่น้อยเกินไป อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) อาทิ โรคขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง (ischemic stroke) โรคเลือดออกในเนื้อสมอง (intraparenchymal hemorrhage stroke)
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบความเกี่ยวข้องระหว่างการบริโภคไขมันอิ่มตัวกับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองในญี่ปุ่น โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นชาวญี่ปุ่น 110,000 ราย โดย 58,453 ราย ตอบคำถามด้านอาหารตลอด 14 ปี จากผลการศึกษาพบความสัมพันธ์แบบผกผันระหว่างการบริโภคไขมันอิ่มตัวกับโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะโรคขาดเลือดและโรคเลือดออกในสมอง และพบว่าผู้ที่บริโภคไขมันอิ่มตัว 18-40 กรัมต่อวันพบความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองน้อยที่สุด ในขณะที่ผู้บริโภคไขมันอิ่มตัวต่ำกว่า 18 กรัมต่อวันกลับเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว 20% และผู้ที่บริโภคต่ำกว่า 11 กรัมต่อวัน พบว่าเพิ่มความเสี่ยงถึง 66%
โดยอธิบายว่าไขมันอิ่มตัวที่มากอาจไปสะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดแดงเส้นใหญ่ แต่อาจให้ผลต่างออกไปในเส้นเลือดขนาดเล็ก โดยปริมาณไขมันอิ่มตัวที่น้อยเกินไปอาจทำให้เกิด angionecrosis อย่างไรก็ตาม การบริโภคไขมันอิ่มตัวมากเกินไปจะเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
นาง Amy Thompson พยาบาลอาวุโสด้านโรคหัวใจของมูลนิธิโรคหัวใจของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ในญี่ปุ่นโรคหลอดเลือดสมองอาจเกิดจากการจับตัวของเลือดในสมอง ซึ่งต่างจากกรณีโรคหลอดเลือดสมองของชาวตะวันตก อีกทั้ง วิถีชีวิตและอาหารการกินที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กันได้ งานวิจัยนี้จึงช่วยแค่ย้ำเตือนให้ตระหนักว่ามีโรคหลอดเลือดสมองหลายประเภท และหลายสาเหตุ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางอาหารอีกหลายชนิดที่มีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง
ที่มา : Food Navigator