นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไทยถูกตัดสิทธิ GPS 2 รายการ คือ กุ้งปรุงแต่งและยาเรเดียลรถยนต์นั่งเนื่องจากสินค้าทั้งสองส่งออกเกินเพดานที่สหรัฐฯ กำหนด โดยกุ้งปรุงแต่งส่งออกไปสหรัฐฯ 14.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณกว่า 400 ล้านบาท สูงเกินกว่าเพดานการส่งออก (CNL) ที่สหรัฐฯ กำหนดให้มีส่วนแบ่งตลาดไม่เกิน 50% แต่ส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 65.63% หลังจากนี้ต้องเสียภาษีนำเข้าอัตรา 5%
ขณะที่สินค้ายางเรเดียลปี 2552 ส่งออก 154.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกินเพดานขั้นสูงที่กำหนดให้ไม่เกิน 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยางเรเดีลของไทยจะเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 4 %
ทั้งนี้กรมการค้าต่างประเทศจะมีการหารือกับผู้ส่งออกสินค้าทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อขอทบทวนการคืนสิทธิในปีถัดไป แต่คาดว่าไม่กระทบต่อการส่งออกไทยในภาพรวมเพราะมูลค่าการส่งออกกุ้งปรุงแต่งมีมูลค่าเพียง 400 ล้านบาท สัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับกุ้งไทยในตลาดสหรัฐฯ ถึง 1 แสนล้านบาท การทบทวนของสหรัฐฯ ปี 2552 ยังมีสินค้าไทยที่ได้รับคืนสิทธิ 9 รายการจากทั้งหมด 16 รายการที่ยื่นขอ คือ ดอกไม้สด ทุเรียนสด มะละกอตากแห้ง มะขามตากแห้ง ข้าวโพดปรุงแต่ง มะละกอแปรรูป ซอสปรุงแต่งอาหาร หนังกระบือฟอก และของใช้ในบ้านชนิดพอร์ซเลนหรือไซน่า ซึ่งทั้งหมดสหรัฐฯ มีการนำเข้าจากไทยรวม 24.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สินค้าเหล่านี้จะได้รับการยกเว้นภาษี และสหรัฐฯ ยังคงให้สิทธิไทย 1 รายการ คือ เครื่องประดับทำจากเงิน โดยปี 2552 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทย 407.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ การตัดสิทธิ GPS เกิดขึ้นหลัง สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ว่าสหรัฐฯ จะเพิกถอนสิทธิทางศุลกากร (GPS) ที่ให้แก่ยางรถยนต์บางประเภทจากไทย พื้นไม้จากบราซิล และสร้อยคอจากอินเดีย เพราะเห็นว่าสินค้าเหล่านี้มีความสามารถในการแข่งขันเพียงพอแล้วในสหรัฐฯ
อนี่งสหรัฐฯ ยังติดสินใจคงสิทธิ GPS แก่สินค้า 110 ชนิดจาก 19 ประเทศ เพราะการนำเข้าสินค้าเหล่านี้เลยเพดานที่กำหนดไว้ในกฎหมายเพียงเล็กน้อย โดยการนำเข้า 110 ชนิดมีมูลค่า 613 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2552 ซึ่งสหรัฐฯ ได้ต่ออายุโครงการ GPS แก่สินค้าส่งออกมูลค่า 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาประเทศที่สมควรได้รับสิทธิพิเศษนี้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ