ในปี 2552 เวียดนามสามารถส่งออกปลา Pangasius ไปยัง 133 ประเทศทั่วโลก โดยมียอดส่งออกรวม 607,665 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสหภาพยุโรปเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด คิดเป็น 36.9% จากปริมาณการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ สหรัฐฯ รัสเซีย และยูเครน ตามลำดับ แต่ภาพรวมการส่งออกในปี 2552 มีปริมาณและมูลค่าลดลง 5.2% และ 7.6% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2551 จากวิกฤติการณ์ทางการเงิน ความต้องการซื้อในตลาดสำคัญลดลง ต้นทุนอาหารสัตว์และค่าน้ำมันที่สูงขึ้น และสุขอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานของผู้ผลิตปลา Pangasius ของเวียดนาม ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในอิตาลีและเยอรมนี ในขณะที่รัสเซียและยูเครนนำเข้าปลา Pangasius จากเวียดนามลดลง
แม้ว่าในปี 2552 เวียดนามสามารถส่งออกปลา Pangasius ไปสหภาพยุโรปได้มากถึง 224,073 ตัน มูลค่า 538 ล้านดอลลาร์สหรัฐก็ตาม แต่มีแนวโน้มว่าอาจลดลง เนื่องจากห้างสรรพสินค้าที่มีสาขาจำนวนมากเรียกร้องให้ฟาร์มปลา Pangasius ต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน Global GAP แต่ผู้ผลิตของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นเกษตรรายย่อยที่มีรายได้ต่ำและไม่อาจรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ เช่น ต้นทุนจากการปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น การปรับปรุงคุณภาพน้ำ และการจ้างเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบฟาร์มซึ่งมีค่าใช้จ่ายวันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมแล้วมีต้นทุนประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้จากการจำหน่าย นอกจากนี้ต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นเป็นการชะลอการขยายตัวของฟาร์มปลา Pangasius และทำให้เกษตรกรหันไปปลูกข้าวแทน ในปี 2553 คาดว่าจะยอดผลิตปลา Pangasius ลดลงเหลือ 600,000-900,000 ตัน จากที่ปี 2552 ผลิตได้ 1.2 ล้านตัน และอาจทำให้ราคาสูงขึ้น
จากแรงกดดันของสหภาพยุโรป เวียดนามจึงมุ่งส่งออกไปยังตลาดอื่นที่ไม่เรียกร้องมาตรฐานดังกล่าวแทน เช่น รัสเซีย สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้เริ่มต้นใช้ US Farm Bill 2008 ของ USDA ตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ซึ่งมีความเข้มงวดในการควบคุมสุขอนามัยและความปลอดภัยอาหาร ทำให้การส่งออกปลา Pangasius ของเวียดนามต้องชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ประกอบการเวียดนามได้เริ่มปรับปรุงให้มีศักยภาพที่ดีขึ้น และฟาร์มบางแห่งเริ่มขอรับการตรวจสอบ Global GAP แล้ว นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มตั้งองค์กร Green Farms เพื่อพัฒนาการเลี้ยงและแปรรูปให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง เพื่อส่งเสริมการส่งออกในสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ
ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป