นางพรรณศิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยหลังเปิดห้องปฏิบัติการไดออกซิแห่งแรกของไทยว่า ห้องปฏิบัติการนี้จัดตั้งด้วยงบประมาณ 77 ล้านบาท เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออกอาหารให้เป็นที่ยอมรับในตลาดสากล
นางดวงจันทร์ สุประเสริฐ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไดออกวิน กรมวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยไม่มี Lab ที่ใช้ตรวจหาสารไดออกซินมาก่อน ทำให้ต้องส่งตัวอย่างไปตรวจที่ต่างประเทศ ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูง ยกตัวอย่างเช่น การส่งตัวอย่างไปตรวจที่ญี่ปุ่น ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 90,000 บาทต่อ 1 ตัวอย่าง และต้องใช้เวลาในการตรวจถึง 40 วัน แต่สำหรับห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์ฯ จะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่ามาก โดยตรวจหาปริมาณไดออกซินในอาหารในระดับน้อยมาก และมีค่าใช้จ่ายเพียง 15,000 บาทต่อ 1 ตัวอย่าง นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการของไทยยังสามารถตรวจโดยใช้วิธี HRGC/ HRMS ซึ่งใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง และมีค่าใช้จ่ายตัวอย่างละ 50,000 บาท ทั้ง 2 วิธีใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 วัน
ทั้งนี้ สารไดออกซินเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เช่น การเผาขยะ โดยสารเหล่านี้จะกระจายไปในสิ่งแวดล้อม และปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร จำพวกอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากละลายได้ดีในไขมัน เมื่อได้รับสารนี้เข้าไปในร่างกายจะส่งผลเสียต่อระบบต่างๆ เช่น สิวหัวช้างบริเวณคอ จมูก แก้ม ผื่นคันตามผิวหนัง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย มีความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ