TH EN
A A A

ผู้เลี้ยงกุ้งอู้ฟู่ส่งออกเฉียด 9 หมื่นล. เร่งเพิ่มมาตรฐาน-ภาพลักษณ์

8 กุมภาพันธ์ 2553   
               นายเอกพจน์ ยอดพินิจ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมกุ้งของไทยยังแข็งแรง โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2552 มีปริมาณการส่งออกกุ้งจำนวน 355,978 ตัน เพิ่มขึ้น 8% ในขณะที่การส่งออกกุ้งมีมูลค่าถึง 85,448  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12%

               อนึ่ง ในปี 2553 คาดว่าจะสามารถผลิตกุ้งได้ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมาหรือสูงกว่า เนื่องจากผู้เลี้ยงกุ้งของไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตกุ้งคุณภาพ ประกอบกับอุณหภูมิของโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนน้อย อากาศอบอุ่นขึ้น โดยจะทำให้กุ้งโตเร็วและมี ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้นลง แต่การส่งออกกุ้งไทยนั้นยังมีอุปสรรคอยู่ 5 ประเด็น ได้แก่

                1. เรื่อง AD (ภาษีการตอบโต้การทุ่มตลาด) ซึ่งปีที่ผ่านมาการส่งกุ้งไทยไปสหรัฐอเมริกาต้องเสียภาษีประมาณ 5% แต่ประเทศคู่แข่งของไทยไม่ต้องเสียภาษี ส่วนในปี 2553 สหรัฐฯ จะประกาศอัตราภาษีในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ชมรมฯ จึงขอให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการประนีประนอม เพื่อให้มีการพิจารณายกเลิกมาตรการ AD กับสินค้ากุ้งไทยให้สำเร็จ

                2. เรื่อง แรงงานเด็ก เนื่องจากสินค้ากุ้งไทยถูกสหรัฐฯ นำไปใส่ไว้ในรายการที่เชื่อว่ามีการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งอาจถูกนำมาเป็นประเด็นห้ามนำเข้ากุ้งไทยได้

                3. เรื่อง ค่าเงินบาท มีการประเมินว่า ค่าเงินบาทในปีนี้จะแข็งค่าถึง 31 บาท ซึ่งจะเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ส่งผลกระทบถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสมต่อการแข่งขันของไทยอยู่ที่ 35 บาท ในขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนามลดค่าเงินด่องลงมาแล้ว

                4. เรื่อง ความเสียหายจากการระบาดของไวรัสกล้ามเนื้อขุ่นในอินโดนีเซียและจีน ปัญหาไวรัสระบาด ทำให้ผลผลิตกุ้งอินโดนีเซียลดลงถึง 30% รัฐบาลต้องป้องกันไม่ให้ไวรัสกล้ามเนื้อขุ่นเข้าสู่ประเทศไทยด้วยมาตรการที่เข้มงวด ทั้งการตรวจสอบไวรัสและสารตกค้าง

                5. การเปิดเสรีอาฟต้า (AFTA) จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่อยู่ยาก ถ้าไม่ปรับตัว ซึ่งสำหรับกุ้งไทยนั้นถือว่าได้เปรียบเนื่องจากได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพจากประเทศผู้นำเข้าอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น แต่ถ้าไทยนำเข้ากุ้งเวียดนามหรืออินโดนีเซียภายใต้ AFTA แล้วส่งออกในนามประเทศไทยอาจมีปัญหาในเรื่องคุณภาพได้
 
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?