TH EN
A A A

3 ชาติร่วมฉะอียูส่งออกน้ำตาลเกินโควตา

3 กุมภาพันธ์ 2553   
                ผู้แทนบราซิล ออสเตรเลีย และ ไทย ออกแถลงการณ์ คัดค้านอียูส่งออกน้ำตาลเกินโควตา กว่า  500,000 ตัน  ชี้เข้าข่ายละเมิดข้อตกลงความร่วมมือของดับเบิลยูทีโอ
 
                ผู้แทนองค์การการค้าโลก (WTO) จากประเทศบราซิล ออสเตรเลีย และไทย ออกแถลงการณ์ร่วม เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการดับเบิลยูทีโอพิจารณายกเลิกคำร้องขอส่งออกน้ำตาลเกินโควตาอีกกว่า 500,000 ตันของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งยื่นเรื่องถึงดับเบิลยูทีโอไปในวันที่ 28 มกราคม 2553 ระบุการกระทำของอียูเข้าข่ายละเมิดข้อตกลงความร่วมมือของดับเบิลยูทีโอ ซึ่งกำหนดให้รัฐบาลแต่ละประเทศลดการอุดหนุนการผลิตและการส่งออกสินค้าด้านการเกษตร เพื่อควบคุมมิให้สินค้าล้นตลาด
 
                อย่างไรก็ตาม นางแมรีแอนน์ ฟิชเชอร์ โบล กรรมาธิการด้านการเกษตรของอียู โต้แย้งว่าคำร้องขอส่งออกน้ำตาลในโควตาพิเศษของอียูเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงดับเบิลยูทีโออย่างถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากจำนวนประเทศสมาชิกอียูเพิ่มจาก 15 ประเทศเมื่อปี 2548 เป็น 27 ประเทศในปี 2552 ส่งผลให้โควตาการผลิตน้ำตาล เพื่อส่งออกในปริมาณสูงสุดของอียูเพิ่มเป็น 1.34 ล้านตัน ประกอบกับผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ได้แก่ อินเดีย และบราซิล ผลิตน้ำตาลได้น้อยลงเพราะประสบภาวะภัยแล้ง ถือเป็นข้อยกเว้นที่ทำให้สามารถส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นได้
 
                ทั้ง นี้ บราซิล ออสเตรเลีย และไทย เคยยื่นเรื่องฟ้องร้องค่าชดเชยจากกลุ่มประเทศอียูมาก่อนเมื่อปี 2548 หลังรัฐบาลกลุ่มประเทศอียูทุ่มงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรผลิตสินค้าทางการ เกษตรเพื่อการส่งออกเป็นจำนวนมาก จนเกิดผลกระทบอย่างหนักต่อการส่งออกของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และดับเบิลยูทีโอตัดสินให้อียูจ่ายเงินชดเชยแก่กลุ่มประเทศที่ได้รับความเสียหาย
 
 
 
 
 
 
ที่มา : ไทยรัฐ

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?