TH EN
A A A

กรมประมงเตือนระวังโรคไอเอ็มเอ็นกุ้ง

3 กุมภาพันธ์ 2553   
                 กรมประมงเตือนผู้ประกอบการกุ้งระวังโรคไอเอ็มเอ็นระบาด ชี้ปีก่อนทำลายอุตสาหกรรมกุ้งอินโดนีเซีย จี้คุมเข้มตรวจสอบแหล่งผลิตก่อนนำเข้าพร้อมเสนอกรมปศุสัตว์ออกประกาศเป็นโรคระบาด
                
                 นางสมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดอย่างรุนแรงของโรคกุ้งทะเล Infectious Myonecrosis (ไอเอ็มเอ็น) ในประเทศอินโดนีเซีย จนเป็นผลให้ผลผลิตกุ้งใน ปีที่ผ่านลดลงประมาณ 40 % โดยโรคนี้ปัจจุบันยังไม่สามารถหาวิธีที่จะควบคุม และหยุดยั้งการระบาดได้อย่างถาวร มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในกุ้งขาว กุ้งฟ้า และกุ้งกุลาดำ เนื่องจากเชื้อสามารถแฝงตัวอยู่ในตัวกุ้งที่หายป่วย หรือกุ้งที่ หายป่วย ซึ่งยังคงมีสภาพเป็นพาหะของโรค อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคซ้ำอีกครั้ง หากมีการติดเชื้อแล้วจะมีอัตราการตายอยู่ที่ 30-70% และเชื้อตัวนี้ยังสามารถมีชีวิตอยู่นอกตัวกุ้ง หรือพาหะได้นาน
              
                 นางสมหญิง กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว ซึ่งมีความเป็นได้ที่จะปะปนมากับกุ้งนำเข้า จึงต้องมีมาตรการรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยเตรียมออกประกาศให้ผู้ประกอบการที่จะนำเข้ากุ้งจาก ต่างประเทศ ต้องตรวจสอบแหล่งผลิตของสินค้าก่อนนำเข้า โดยต้องแนบใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ (Animal Health Certificate) ซึ่งระบุว่าปราศจากโรคไอเอ็มเอ็น และยังได้ประสานกรมปศุสัตว์ เพื่อออกประกาศโรคไอเอ็มเอ็นเป็น "โรคระบาด" ตามกฎหมายโรคระบาดสัตว์ เพื่อจะได้สามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ต่อไป
              
                  "ขณะนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในสถานะปลอดจากโรค แต่ทางองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE ประกาศว่าเป็นโรคระบาดในสัตว์น้ำ ที่ต้องมีการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง ซึ่งไทยควรระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะการเลี้ยงกุ้งของไทยส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์จากต่างประเทศ" นางสมหญิงกล่าว
               
                  นางสมหญิง กล่าวว่า กุ้งที่เป็นโรคไอเอ็มเอ็นจะมีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนคือกินอาหารน้อยลง เซลล์กล้ามเนื้อบริเวณท้องและหางตาย ทำให้เนื้อกลายเป็นสีขาวขุ่น ต่อจากนั้น บริเวณเปลือกบางส่วน และกล้ามเนื้อก็จะกลายเป็นสีแดง จึงอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเฝ้าระวังอย่างรัดกุม
 
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?