Ly Van Thuan เลขาธิการใหญ่สมาคมผู้ส่งออกและผู้ประกอบการอาหารทะเลจังหวัด Ca Mau กล่าวว่า ผู้ประกอบการกุ้งจังหวัดดังกล่าวเกือบทั้ง 31 แห่งผลิต กุ้งได้เพียง 40% เท่านั้น โดยในปี 2552 ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งประสบภาวะขาดทุนอย่างรุนแรง ส่งผลให้ผู้ประกอบการกุ้งต้องลดปริมาณการผลิตลง และไม่สามารถส่งออกได้ตามเป้า จึงต้องลดขนาดฟาร์มให้เล็กลง และเกิดภาวะขาดแคลนกุ้ง ซึ่งส่งผลกระทบสำคัญต่อจังหวัดนี้ซึ่งเคยเป็นจังหวัดที่ส่งออกกุ้งได้มากที่สุด ส่วนในจังหวัด Bac Lieu พื้นที่เลี้ยงกุ้งมีขนาดลดลง 1 ใน 3 เป็นการส่งสัญญาณว่ากุ้งอาจขาดแคลนจนถึงไตรมาสแรกของปี 2553
ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการปลาดุกในแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นบริเวณที่จับปลาดุกได้มากที่สุดในเวียดนาม ประสบภาวะขาดแคลนวัตถุดิบเช่นกัน เนื่องจากในปี 2552 ชาวประมงหลายคนหยุดเพาะเลี้ยงปลาดุก เนื่องจากขาดทุน ทำให้ฟาร์มปลาดุกขนาดลดลง 30 % ตั้งแต่ครึ่งปีแรกของปี 2552 ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดสามารถผลิตปลาดุกได้ 50% เท่านั้น
ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2552 รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติโครงการพัฒนาการผลิตและการบริโภคปลาดุกจนถึงปี 2563 ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ และกำหนดให้ฟาร์มปลาดุกต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 10 เฮกตาร์ และต้องตั้งอยู่ในเขตเพาะเลี้ยงปลาดุกโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะปฏิรูปการเพาะเลี้ยงปลาดุก พัฒนาสายพันธุ์ และความร่วมมือระหว่างผู้เพาะเลี้ยงและผู้ประกอบการปลาดุกอีกด้วย