สำนักงานบริการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในปีการตลาดที่เริ่มต้นเดือนมกราคม 2553 ผลผลิตข้าวไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุดของโลก จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 31.06 ล้านตัน จากประมาณ 29.36 ล้านตันในปี 2552 นายพรณรงค์ ประเสริฐศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร ชี้ว่า ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว เป็นผลมาจากปริมาณฝนที่ดีในปีนี้ ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มมากขึ้น ทั้งการทำนาข้าวของไทย ยังได้รับความเสียหายในวงจำกัดในช่วงมรสุม อย่างไรก็ดี ยอดการส่งออกในปีการตลาดปัจจุบันอาจลดลงมาอยู่ที่ 8.6 ล้านตัน จากยอดการส่งออกของปี 2552 ที่อยู่ที่ 10 ล้านต้น เนื่องจากราคาข้าวไทยในตลาดโลก มีราคาสูงกว่าข้าวส่งออกจากเวียดนาม ซึ่งมีสาเหตุมาจากรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงราคาข้าว จึงทำให้ต้นทุนข้าวจากไทยพุ่งสูงขึ้น
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ปริมาณข้าวที่ลดลงจะส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการข้าวของโลกในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 17% ในขณะที่พื้นที่การผลิตข้าวของโลกจะลดลงถึง 19% ดังนั้น การที่สหรัฐระบุว่าข้าวไทยจะมีผลผลิตมากขึ้น จึงไม่น่าเป็นไปได้ และคาดว่าจะเป็นการเสนอข้อมูลเพื่อกดราคาข้าวไทยในตลาดโลกให้ต่ำลง เนื่องจากปัจจุบันข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สูงมาก
นอกจากนี้ ข้าวของไทยในขณะนี้ยังสามารถแข่งขันได้กับเวียดนาม แม้ว่าจะมีการปรับลดค่าเงินดองลง 5% โดยมีราคาส่งออกข้าวต่างกันประมาณตัน 85-100 ดอลลาร์ และการส่งออกข้าวของไทยในปี 2552 ยังจะเป็นไปตามเป้า 8.5 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณส่งออกข้าวดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตที่มีอยู่ และเป็นไปตามที่สหรัฐฯคาดการณ์เอาไว้ ด้วยเหตุนี้อาจส่งผลให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้นในปี 2553 แต่ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องค่าเงินดองที่เวียดนามอาจปรับลดอีกครั้ง และทำให้ราคาข้าวเวียดนามต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะมีช่องห่างกับข้าวของไทยมาก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ
ทั้งนี้ หากราคาในประเทศทะลุตันละ 2 หมื่นบาทขึ้นไป การส่งออกจะลำบาก แต่เชื่อว่าโดยกลไกของตลาดน่าจะควบคุมราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และตลาดจะไม่ผันผวนตามประกาศของสหรัฐฯ เพราะทุกประเทศในขณะนี้มีการศึกษาข้อมูลที่ดีเช่นกัน