การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ 7-18 ธันวาคม 2552 นี้ สหภาพยุโรปได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะถอนข้อเสนอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 30% ของทั้งกลุ่ม ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่สุด ด้านไทยย้ำว่าการลดก๊าซเรือนกระจกต้องไม่คุกคามการผลิตอาหาร
โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ประมาณ 17% จากระดับของปี 2548 ภายในปี 2563 ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปคำนวณว่ามีค่าเท่ากับการลดก๊าซเรือนกระจก 3% จากระดับปี 2533 จึงไม่ยุติธรรมต่อบริษัทในสหภาพยุโรปที่ให้คำมั่นว่าจะลดให้ได้ถึง 20% ดังนั้น การตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกที่ 30%ของสหภาพยุโรปจึงเป็นปัญหา เพราะไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ด้านรัฐบาลนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้วางแนวทางระยะยาวของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงประมาณ 83% ภายในปี 2593
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรมาก ซึ่งภาคการเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 13% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด แต่ 89% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดเป็นการกักเก็บไว้ในดิน เช่น การลดการไถพรวน การจัดทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และการปลูกพืชคลุมดิน
ดังนั้น ในการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนครั้งนี้ นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย ในฐานะประธานอาเซียนจะเสนอกรอบข้อผูกพันให้มีผลทางกฎหมายให้ได้ภายในปี 2555 โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม ซึ่งท่าทีของไทยคือ การดำเนินการภายใต้กรอบท่าทีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและได้ผ่านสภาเรียบร้อยแล้ว
นายธีระ เน้นว่า การลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรมต้องไม่คุกคามการผลิตอาหาร และคำนึงถึงรูปแบบการบริโภคเป็นสำคัญ ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรมเป็นการปล่อยเพื่อความอยู่รอดและเกี่ยวข้องกับความยากจนโดยตรง ซึ่งขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างยกร่างแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้น ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร เพื่อเสนอท่าทีภาคเกษตร ทิศทางการวิจัย นโยบายและมาตรการภาคการเกษตรควบคู่ไปด้วย