TH EN
A A A

สศช.คาดราคาสินค้าเกษตรปีหน้าพุ่ง 20%

8 ธันวาคม 2552   
                นายอำพน กิติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ราคาสินค้าเกษตรปี 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10-20% จากความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลให้เงินชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้ไม่ถึง 4.3 หมื่นล้านบาท

                จากสถานการณ์ความต้องการสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ราคาผลิตผลด้านการเกษตรที่สำคัญของไทยหลายประเภทปรับตัวดีขึ้นมาก เช่น มันสำปะหลังราคาพุ่งไปถึง 2.35 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนข้าวหอมมะลิที่จำหน่ายในตลาดมีราคาเกินราคาประกัน  สศช. รายงานแนวโน้มการผลิตในปี 2553 พบว่าภาคเกษตรมีแนวโน้มดีขึ้นมากจากปี 2552 ทั้งผลผลิตและราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ขณะที่มาตรการของรัฐบาลช่วยสนับสนุนการผลิตภาคเกษตร ทั้งการประกันรายได้เกษตรกร การส่งเสริมพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีคุณภาพและปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น แต่การเปิดเสรีอาเซียนที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 นั้น หากรัฐบาลไม่มีมาตรการรับมือจะทำให้เกิดปัญหาได้

                นายปราโมชย์ วานิชนนท์ กรรมการนโนบายข้าวแห่งชาติ กล่าวว่า ราคาสินค้าเกษตรทุกชนิดดูเหมือนดี แต่ต้องดูว่าคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนมากขึ้น ซึ่งภาครัฐต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาว เพื่อรักษาระดับราคาเอาไว้และลดต้นทุนให้ต่ำสุด สร้างกำไรให้เกษตรกรสูงสุด  โดยยุทธศาสตร์ต้องแยกแต่ละประเภทสินค้าที่สามารถปฏิบัติได้โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งโลกร้อนและการค้าเสรีที่เปลี่ยนไป

                นายไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย ชี้ว่า ปัจจุบันตลาดส่งออกผลไม้ของไทยให้ความเข้มงวดเรื่องสารตกค้างและมีการคิดค้นหลายวิธีเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ส่งผลให้สินค้าเน่าเสียได้ง่ายผู้ประกอบการจึงเลือกตลาดจีน เพราะง่ายต่อการขนส่งและขยายตัวมาก ผลไม้ส่งออกที่สำคัญของไทย คือ ทุเรียน มังคุด ส้มโอ ลำไย และกล้วยไข่ ในส่วนของลำไยยังมีปัญหาเรื่องการกระจุกตัว ในพื้นที่ปลูกภาคเหนือ และผลผลิตบางส่วนยังออกสู่ตลาดตรงกับจีน ทำให้ราคาตกบางช่วง โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยปี 2553 อยู่ที่กิโลกรัมละ 11-12 บาท ซึ่งรัฐบาลควรสนับสนุนให้ผลิตลำไยนอกฤดูกาลเพราะมีราคาสูงขึ้นประมาณกิโลกรัมละ 25-30 บาท ส่วนทุเรียน ในปี 2552 จีนลดการนำเข้า 20-30% โดยปี 2553 กรมวิชาการเกษตรต้องแก้ไขเรื่องคุณภาพให้ความรู้เกษตรกรมากขึ้น นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรต่ออายุระบบการรับรอง GAP  เพื่อให้สะดวกต่อการส่งออก

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?