TH EN
A A A

ตุรกีกับมาตรฐานฮาลาล

2 ธันวาคม 2552   
 
                ตุรกีมีบทบาทสำคัญในการพัฒนามาตรฐานอาหารฮาลาลภายใต้กรอบองค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศอิสลาม (OIC) เนื่องจากตุรกีมีท่าทีที่เป็นกลางมากที่สุด เพราะยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ  ต่างจากประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่ต้องการผลักดันมาตรฐานฮาลาลของประเทศตนให้เป็นที่ยอมรับและนำไปใช้  จึงทำให้ผู้ส่งออกสินค้าอาหารและบริษัทรับรองมาตรฐานส่วนหนึ่งในตุรกีเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้ เพื่อเข้าไปแย่งส่วนแบ่งของตลาดอาหารฮาลาลโลกซึ่ง Business Monitor International ประเมินว่าจะมีมูลค่ากว่า 650 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2553

                   เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2552  กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐาน (SEG) ได้มีการหารือกับ International Islamic Fiqh Academy ในนครเจดดาห์  และได้ข้อสรุปการจัดทำมาตรฐาน 2 เรื่อง คือ คุณสมบัติและความรับผิดชอบของผู้ออกใบรับรองมาตรฐานฮาลาล และข้อกำหนดเกี่ยวกับ Halal auditors  ส่วนประเด็นสำคัญบางประเด็นที่ SEG ได้ข้อสรุปแล้วคือ การกำหนดชนิดของปลามีเกล็ด (scaly fish) และสภาพของมีดและเครื่องจักรที่จะใช้เชือดสัตว์ปีก  ความจำเป็นในกล่าวคำว่า “บิสมิลลาห์”(Bismillah)  และการจับสัตว์ที่จะเชือดให้หันหน้าไปในทิศที่ตั้งของนครเมกกะและหินกะบาห์

                     เมื่อปลายเดือนกันยายน 2552  ผู้ออกใบรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลจากหลายประเทศในสหภาพยุโรป เช่น ตุรกี เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เบลเยียม ออสเตรีย เดนมาร์ก สเปน และบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา ได้ประชุมหารือที่นครแฟรงค์เฟิร์ต และตัดสินใจจัดตั้ง European Association of Halal Certifiers เพื่อเป็นองค์กรกลางในการทำหน้าที่ควบคุมดูแลการออกใบรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล เพื่อสร้างความเป็นระเบียบและความสอดคล้องของตลาดอาหารฮาลาลในยุโรป  ขจัดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค  โดยคาดว่าจะประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 ที่กรุงบรัสเซลส์  ประเทศเบลเยียม

                    ทั้งนี้ ความสำเร็จในการดำเนินงานของ European Association of Halal Certifiers ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ซึ่งจะต้องมีมาตรการบังคับให้ผู้ออกใบรับรองปฏิบัติตามแนวทางที่ European Association of Halal Certifiers กำหนดไว้  อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่า European Association of Halal Certifiers จะยึดกฎเกณฑ์ของศาสนาหรือหลักการทางวิทยาศาสตร์ฮาลาลเป็นแนวทางหลักในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล
 
 
ที่มา : สถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงอังการา

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?