ไทยรับอานิสงส์ผู้ผลิตข้าวหลายประเทศ เกิดภาวะแล้งหนัก ผลผลิตลดแต่ความต้องการเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังอ่อนค่าทำให้ราคาข้าวตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลังไตรมาสที่ 3 ปี 2553 จะเป็นโอกาสทองชาวนาไทย คาดว่าข้าวหอมมะลิทะลุ 3 หมื่นบาทต่อตัน ส่วนข้าวขาว 1.6-1.8 หมื่นตัน
นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า หลังจากผู้ผลิตข้าวหลายประเทศได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทำให้ต้องนำเข้าข้าวจากทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน รวมทั้ง อินเดีย ซึ่งส่งผลดีต่อราคาข้าวไทย และเชื่อว่าปีหน้าปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวลดลง ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่าอาหารโลกปีหน้าจะเสียหาย 20%
อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกสำคัญกำลังประสบภาวะแห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง อินเดียจึงต้องประกาศนำเข้าข้าว 2 ล้านตัน และลดภาษีนำเข้าเพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง ส่วนเวียดนามได้รับผลกระทบจากพายุหลายระลอก ทำให้ผลผลิตข้าวหายไป 50% ทางการเวียดนามจึงได้นำข้าวสำรองออกมาให้การช่วยเหลือประชาชน ซึ่งการส่งออกข้าวของเวียดนามปีหน้าจะลดลงแน่นอน ดังนั้น ปี 2553 จึงเป็นโอกาสดีสำหรับการส่งออกข้าวไทย เพื่อขายให้กับประเทศในกลุ่มอาเซียนแทนเวียดนาม
นายอภิชาติ จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจ กล่าวถึง การผลิตข้าวในปี 2552/2553 ว่ามีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 69.35 ล้านไร่ และมีผลผลิตข้าวเปลือกที่คาดว่าจะได้ 31.49 ล้านตัน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ขยายพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อรับราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นและยังเพิ่มผลผลิตต่อไร่ต่อพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปีเป็น 529 กก./ไร่ และนาปรังเป็น 764 กก./ไร่ โดยการส่งออกข้าวของไทยปี 2553 คาดว่าจะอยู่ที่ 9.5-10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่าปี 2552 ที่คาดว่าจะส่งออกได้ 8.7-8.8 ล้านตัน โดย 11 เดือนแรกส่งออกไปแล้ว 7.5 ล้านตัน ส่วนผลผลิตข้าวของไทยปีนี้ น่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ข้าวเปลือกจากทั้งประเทศที่มีประมาณ 5-6 ล้านตัน ดังนั้น คาดว่าปริมาณผลผลิตข้าวนาปีทั้งประเทศ น่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 % ทั้งข้าวหอมมะลิ และข้าวเจ้า หรือมากกว่า 25 ล้านตัน
ขณะที่ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกสำหรับปี 2552/2553 ว่าจะลดลงเหลือ 432.1 ล้านตัน หรือลดลงจากปีก่อน 3% โดยมองว่า อินเดีย ฟิลิปปินส์ อุรุกวัย สหรัฐฯและเวเนซุเอลา จะมีผลผลิตสู่ตลาดน้อยลง ปริมาณสำรองข้าวโลกยังคงคาดการณ์ไว้ที่ 85.9 ล้านตัน หรือต่ำกว่าปีก่อน 5% โดยผลผลิตที่ลดลงเป็นผลมาจากภัยธรรมชาติซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ปัจจัยอีกอย่างที่ดันราคาข้าวโลกพุ่งขึ้น คือ ข่าวที่อินเดียนำเข้าจากประเทศอื่น 2 แสนตันในปี 2552 และอีก 2 แสนตันในปี 2553
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ และ ประชาชาติธุรกิจ