TH EN
A A A

อาเซียน – จีนลดภาษี 0% ต้นปี 2553 เตือนผู้ส่งออกระวัง

18 พฤศจิกายน 2552   
                เขตการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2553 โดยภาษีสินค้ารายการปกติทั้งหมดกลายเป็น 0% จากปัจจุบันที่จีนได้ลดภาษีให้ไทยตามกรอบอาเซียน-จีน ไปแล้ว 4,939 รายการ ภาษีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 6.2% แต่หลังจากปี 2553 จะเหลือสินค้าอ่อนไหว 400 รายการ ที่จะทยอยลดเหลืออัตราภาษีอยู่ที่ 0-5% ในปี 2561 และสินค้าอ่อนไหวสูงอีก 100 รายการ จะลดภาษีเหลือ 50% จากอัตราปกติในปี 2558 โดยไทยหวังว่าการลดภาษีนี้จะช่วยผลักดันการค้าไทย-จีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2553
               
                นาย ประกอบ พรประสิทธิ์กุล ที่ปรึกษารัฐบาลเมืองอี้อู ด้านสินค้าไทย กล่าวว่า รัฐบาลไทยต้องเตรียมมาตรการรับมือปัญหาข้อกีดกันทางการค้า ภายหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2553 เพราะอาจทำให้สินค้าทุกประเทศอาเซียนสามารถส่งออกมาจีนมากขึ้นและอาจนำไปสู่ปัญหาการนำเข้าข้าวจากลาวและกัมพูชาซึ่งมีต้นทุนเพียงตันละ 6 พันบาท มาปลอมปนผสมกับข้าวหอมมะลิไทยซึ่งมีต้นทุนสูงกว่า
               
                การลดภาษีดังกล่าวจีนมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) กับสินค้าไทย เช่นข้าว รัฐบาลจีนยังใช้ระบบ Import Licensing ซึ่งต้องให้ผู้นำเข้าซึ่งจะเป็นรัฐวิสาหกิจแต่มณฑลจะต้องขอโควตากับรัฐบาลจีน และมาจัดสรรให้กับผู้นำเข้าในเครือข่ายของแต่ละมณฑล เพราะจีนเป็นประเทศที่มุ่งจะขายสินค้าไม่ใช่จะเปิดตลาดให้ไทยเข้าไปอย่างเดียว นอกจากนี้ มาตรการและกฎหมายที่ใช้ในแต่ละมณฑลเหมือนกัน แต่มีระดับความเข้มงวดต่างกันโดยจะมีหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพ (CIQ) ทำหน้าที่ตรวจสอบ 
             
               อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเปิดตลาดสินค้ากลุ่มเกษตรน่าจะขยายตัวได้ดี เพราะผู้บริโภคจีนรู้ว่าสินค้าไทยมีจุดเด่นด้านภาพลักษณ์และคุณภาพแต่ขาดการทำการตลาดที่เหมาะสม จึงทำให้ขยายตัวได้ช้า เนื่องจากต้องอาศัยการขายฝากจากจีน ซึ่งจะผูกขาดการค้าตั้งแต่ต้นทางการผลิต เช่น ผลไม้ไทยส่วนใหญ่จะส่งไปขายส่งที่ตลาดผักและผลไม้เจียงหนาน ซึ่งไทยควรพยายามกระจายสินค้าไปยังตลาดจีนอื่นๆโดยเลือกตลาด และพัฒนาคุณภาพและ ปรับราคาสินค้าให้เหมาะสม
 
               ตามข้อมูลของภูมิภาคจีน (China Hub) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า การลดภาษีนำเข้าไม่ใช่การเปิดตลาดเสรีทั้งหมด เพราะมีเงื่อนไขที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเปิดตลาดอยู่ ทั้งมาตรการด้านภาษีภายในประเทศ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าทั่วไปอัตราสูงสุดที่ 17% มีเพียงสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้นที่ได้รับการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เหลือ 0%
 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?