นาย ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เชื่อว่ากรณีที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าสินค้ากุ้งไทย มีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานที่ถูกบังคับเพื่อผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางด้านภาพลักษณ์ของสินค้าไทยนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อยอดสั่งซื้อกุ้งจากไทย เพราะหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรของสหรัฐฯ(ICE) ได้ตรวจสอบกุ้งไทยช่วงต้นปีแล้ว ไม่พบปัญหาด้านแรงงาน แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยถูกกล่าวหาอีกครั้งหนึ่ง คงเกิดจากการเมืองภายในสหรัฐฯ และมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมกุ้งในรัฐหลุยเซียน่า ซึ่งเป็นรัฐที่ทำอุตสาหกรรมกุ้งเป็นหลัก
สมาคมฯ จึงได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ชี้แจงข้อมูลให้กับสหรัฐฯทราบว่าสื่อสหรัฐฯ ใช้ข้อมูลเก่าเมื่อ ปี 2545 มาอ้าง ซึ่งกระทบภาพลักษณ์ของสินค้าไทย ทั้งนี้ สมาคมยังได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังสำนักพิมพ์ของ Seafood.com News และแจ้งเตือนไปยังสมาชิกสมาคมให้เพิ่มความเข้มงวดกับผู้ประกอบการแต่ละราย ทั้งในด้านแรงงาน สถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นที่โรงงานรับซื้อวัตถุดิบ และทำหนังสือถึงสมาคม/ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งให้เพิ่มความเข้มงวดในด้านแรงงานในฟาร์มเพาะเลี้ยง
แม้ว่าในปัจจุบันอุตสาหกรรมกุ้งไทยมีการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก แต่สมาชิกของสมาคมก็ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายด้วยการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้งหมด
สำหรับแนวโน้มการส่งออกกุ้งครึ่งปีหลัง ปี 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะมีปริมาณ 209,924 ตัน เพิ่มขึ้น 6.73% มูลค่า 47,119 ล้านบาท การส่งออกสินค้าประมงทั้งหมดจะลดลง 5% เพราะขาดแคลนวัตถุดิบ โดยปลาหมึกลดลง 16% และปลาลดลง 14% มีเพียงกุ้งที่จะเพิ่มขึ้น 8% ด้านมูลค่าสินค้าประมงรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.22% กุ้งเพิ่มขึ้น 13% ส่วนปลาหมึกลดลง 24% และปลาลดลง 19%
ประชาชาติธุรกิจ