TH EN
A A A

ไทยเปิดเจรจาขอชดเชยภาษีอียู ไก่ยังไม่ทันจบ “ทูน่า”มาอีกแล้ว

23 พฤศจิกายน 2549   

               กระทรวงพาณิชย์เปิดเจรจารอบใหม่ ขอชดเชยกรณีสหภาพยุโรปให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่ม ACP ในสินค้าทูน่ากระป๋องเสียภาษีนำเข้า 0% หลังข้อตกลงให้สิทธิพิเศษที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2546 จะหมดอายุปลายปีนี้

               สหภาพยุโรปเตรียมทบทวนการให้สิทธิภาษีนำเข้า 0% สำหรับสินค้าทูน่ากระป๋อง 3 พิกัด (16041411-6041418 และ 16042070 ) ที่ผลิตจากกลุ่มประเทศ African Caribbian Pacific : ACP และกลุ่มประเทศ Andean ซึ่งเป็นอาณานิคมเดิมภายใต้ Cotonou Agreement ซึ่งจะหมดอายุลงในเดือนธันวาคม 2550 นี้ ส่งผลให้ไทยในฐานะผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องต้องเตรียมการเปิดเจรจาเพื่อขอชดเชยกับสหภาพยุโรป

               นับตั้งแต่ปี 2546 ไทยได้รับสิทธิชดเชยการส่งออกสินค้าทูน่ากระป๋องไปยังสหภาพยุโรปในโควตาเริ่มต้นที่ปีละ 25,000 ตัน บวกกับอัตราขยายตัวอีก 3% ต่อปี มีอัตราภาษีในโควตา 12% ส่วนภาษีนอกโควตาอยู่ที่ 24 %โดยโควตาภาษีที่สหภาพยุโรปให้กับสินค้าทูน่ากระป๋องจากไทยครั้งนี้เพื่อจะชดเชยการลดภาษีทูน่ากระป๋องลงเหลือ 0% ที่ให้กับกลุ่ม ACP นั่นเอง

               ด้านสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปยื่นข้อเสนอขอให้ลดภาษีในโควต้าลงเหลือ 0% เท่ากับที่ให้กลุ่ม ACP หากไม่สำเร็จก็ขอให้สหภาพยุโรปคงระบบโควตาภาษีเดิมที่ให้กับไทย แต่ขอให้ขยายอัตราเติบโตจาก 3% ต่อปีไปเป็น 5% ต่อปีแทน และมีความเห็นว่าระบบโควตาภาษีทำให้ไทยเสียเปรียบในการส่งออกทูน่ากระป๋องในตลาดสหภาพยุโรป เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าสเปน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดในอียู และเป็นผู้เข้าไปลงทุนการผลิตทูน่าในกลุ่ม ACP ด้วย

               แต่ละปีสหภาพยุโรปต้องนำเข้าสินค้าทูน่ากระป๋องใน 3 พิกัด ประมาณ 70 ล้านหีบ ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าทูน่าจากไทย 6-7 ล้านหีบ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 9% ขณะที่สเปนซึ่งเป็นผู้ผลิตทูน่าอันดับหนึ่งในสหภาพยุโรป มีการจำหน่ายทูน่าในตลาดอียูประมาณ 30-40 ล้านหีบซึ่งมากกว่าไทย แต่ในภาพรวม ประเทศไทยยังครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ1 ในตลาดโลก

               ทั้งนี้กรมศุลกากรได้รายงานการส่งออกทูน่ากระป๋องพิกัด 160414 ไปยังสหภาพยุโรปในช่วง 9 เดือนแรก 2549 มีปริมาณรวม 118,572 ตัน มูลค่า 5,785 พันล้านบาท อัตราการขยายตัว 1.23% ปี 2548 ปริมาณรวม 66,721 ตัน มูลค่า 6,626 พันล้านบาท หรือขยายตัว 1.16% ปี 2547 ปริมาณรวม 41,593 ตัน มูลค่า 3,949 พันล้านบาท หรือขยายตัว 0.71% และปี 2546 ปริมาณรวม 53,193 ตัน มูลค่า 4,444 พันล้านบาท หรือขยายตัว 0.91% ขณะที่การส่งออกทูน่ากระป๋องไทยไปยังสหภาพยุโรปก่อนที่จะมีการนำระบบโควตาภาษีมาใช้ ปรากฎว่าในปี 2545 มีการส่งออกปริมาณ 47,683 ตัน มูลค่า 4,100 พันล้านบาท หรือขยายตัว 0.94%

               ส่วนการส่งออกทูน่าพิกัด 160420 นั้น ในช่วง 9 เดือนแรกมีปริมาณรวม 13,452 ตัน มูลค่า 1,033 พันล้านบาท หรือขยายตัว 0.22% ปี 2547 มีปริมาณรวม 17,751 ตัน มูลค่า 1,293 พันล้านบาท หรือขยายตัว 0.23% ปี 2546 มีปริมาณรวม 16,173 ตัน มูลค่า 1,216 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 0.25% และ ปี 2545(ก่อนที่จะกำหนดโควตาภาษี) มีปริมาณรวม 15,836 ตัน มูลค่า 1,198 พันล้านบาทหรือขยายตัว 0.27%

ประชาชาติธุรกิจ

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?