TH EN
A A A

Green week 2009 กับท่าทีของอียูในการเจรจาความตกลงสิ่งแวดล้อม

2 กรกฎาคม 2552   
ใน ช่วงระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายน 2552 ได้มีการจัดสัมมนาวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม (Green Week 2009) ในหัวข้อ “Climate Change: act and adapt” โดยสรุปเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ยังคงเป็นนโยบายที่สหภาพยุโรปพยายามผลักดันและ เสนอตัวเป็นแกนนำ
 
                   การจัดสัมมนาวิชาการดังกล่าวมีการบรรยายในหัวข้อต่างๆ โดยผู้แทนจากหลายภูมิภาค นอกจากภายในสหภาพยุโรปแล้ว ยังมีผู้บรรยายจากจีน อินเดีย แอฟริกาใต้ บราซิล เข้าร่วม ซึ่งมีสาระสำคัญจากการบรรยายบางหัวข้อ ดังนี้
  1. เป้า หมายของสหภาพยุโรปในการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ: นาย Stavros Dimas กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อมย้ำว่าสิ่งที่สหภาพยุโรปต้องการเห็นในการ ประชุมของ UNFCCC ที่จะมีขึ้นที่กรุงโคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคมปีนี้ คือความตกลงเดียวที่มีผลผูกพัน (Single legally binding treaty) โดยหวังว่าจะมีความตกลงที่มีผลบังคับใช้ที่เป็นรูปธรรม และครอบคลุมเรื่องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ มีการยินดีกับหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่นและออสเตรเลียที่ได้ตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหลายประเทศกำลังพัฒนา อาทิ อินเดีย จีน บราซิล ที่มีท่าทีตอบรับการทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโดยใช้คาร์บอนต่ำ (Low-carbon development strategy)
  2. การให้ความ ช่วยเหลือทางการเงิน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี: ผู้บรรยายฝ่ายสหภาพยุโรปเพียงแต่ยืนยันว่าสหภาพยุโรปพร้อมที่จะให้การสนับ สนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาในสัดส่วนที่ยุติธรรม ทั้งนี้ ผู้บรรยายฝ่ายเอเชียให้ความเห็นว่า ควรมีการสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา ให้ความช่วยเหลือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแนวปฏิบัติที่ดี และคำนึงถึงแนวทางการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Mitigation) ที่อาจจะมีความแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
  3. การใช้ เครดิตจากโครงการ Clean Development Mechanism (CDM) ในระบบ EU Emission Trading Scheme ฝ่ายสหภาพยุโรปเห็นว่าขึ้นอยู่กับผลการเจรจาที่โคเปนเฮเกน ซึ่งมีแนวคิดจะเสนอข้อจำกัดในการใช้เครดิตจากโครงการ CDM โดยเห็นว่าการพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้วิธีการ Offset ในการลงทุนในโครงการ CDM นอกสหภาพยุโรปควรมีปริมาณไม่เกิน 50% ของความพยายามในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรปทั้งหมด อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปมุ่งเป้าหมายการจัดทำตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตระดับโลกมากกว่า โดยคาดว่าจะเริ่มภายในกลุ่ม OECD ในปี 2558 ในขณะเดียวกัน ผู้บรรยายจากประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่าการใช้ประโยชน์จากโครงการ CDM ในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries หรือ LDCs) ยังมีน้อย
  4. แนวทางการ แก้ไขปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา: ผู้บรรยายจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อาทิ แอฟริกาใต้ จีน อินเดีย เน้นว่าประเทศเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาพลังงานจากถ่านหิน อย่างไรก็ดี ผู้บรรยายจากแอฟริกาใต้และจีนต่างชี้แจงแผนการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการกักเก็บคาร์บอน (Carbon and capture storage) 
     
 
 
คณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรป

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?