กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ (USFDA) ยอมรับ การจัดระบบเอกสารการควบคุมความปลอดภัยกรมประมง นำร่องสินค้ากุ้ง รอลุ้นผลประเมินศักยภาพเจ้าหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานฟาร์มเดือนสิงหาคมนี้ นางจิราวรรณ แย้มประยูร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า USFDA เห็นชอบให้กรมประมงเป็นบุคคลที่สาม (Third Party) ในการกำกับดูแลความปลอดภัยสินค้าประมงส่งออกภายใต้โครงการนำร่องการตรวจสอบสินค้าจากการเพาะเลี้ยง โดยเมื่อวันที่ 2-3 มิถุนายนที่ผ่านมา USFDA ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาหาร และเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ มาตรวจประเมินกรมประมง ซึ่ง USFDA พึงพอใจและชื่นชมกรมประมงที่มีการจัดเอกสารระบบการควบคุมความปลอดภัยสินค้าประมงและระบบการควบคุมมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลที่สมบูรณ์และได้มาตรฐานตามหลักสากล
นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคมนี้ USFDA ยังจะตรวจประเมินศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงกุ้งและเจ้าหน้าที่กำกับดูแลโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำอีกครั้ง ซึ่งในขณะนี้มีบริษัทแปรรูปสินค้ากุ้งที่ส่งออกในตลาดสหรัฐฯ สนใจเข้าร่วมโครงการรวม 53 บริษัท หากผลการตรวจประเมินครั้งนี้แล้วเสร็จ USFDA จะนำผลการตรวจสอบมาจัดระบบเพื่อประกาศรับรองและมอบหมายให้กรมประมงเป็นบุคลที่สามในการตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยของสินค้ากุ้งจากการเพาะเลี้ยงแทน USFDA ซึ่งคาดว่ากรมประมงจะเป็นหน่วยงานรัฐเพียงหน่วยเดียวในภูมิภาคนี้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นบุคคลที่สามที่ทำหน้าที่ตรวจรับรองสินค้ากุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงเพื่อส่งออกในสหรัฐฯ
หลักเกณฑ์การคัดเลือกหน่วยงานของ USFDA ในครั้งนี้ มีความเข้มงวดมาก ซึ่งมีหน่วยงานได้รับการประเมินแล้ว 6 หน่วยงาน คือ กรมประมงของไทย บริษัทเอกชนของบราซิล กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ และบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ 3 แห่ง โดยกรมประมงของไทยเป็นหน่วยงานภาครัฐแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียที่ผ่านการคัดเลือก
หาก USFDA เห็นชอบให้ไทยเป็นบุคคลที่สามในการตรวจสอบรับรองสินค้าประมง เริ่มต้นจากกุ้งเพาะเลี้ยงก่อน จะส่งผลให้กุ้งของไทยได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งจะเป็นการนำร่องให้สินค้าอื่นๆของไทยเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากลไปด้วย
ในขณะเดียวกัน ด้านสหภาพยุโรปก็ได้ออกประกาศเกี่ยวกับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดยให้เหตุผลว่า การทำประมงที่ผิดกฎหมายถือเป็นภัยร้ายแรงต่อการพัฒนาทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางทะเล ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กับสินค้าประมงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 โดยระเบียบดังกล่าวกำหนดให้สินค้าประมงต้องมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่ออกโดยเรือประมงประเทศเจ้าของธงเรือและผ่านการรับรองจากกรมประมงของไทย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
|