TH EN
A A A

ไทยยันแก้ปัญหาข้าวปนเปื้อนแคดเมียม

20 กุมภาพันธ์ 2552   
              เมื่อวันที่  12 กุมภาพันธ์ 2552 มีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์โยมิอุริของญี่ปุ่น พบว่าชาวไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ร้องเรียนกรณีได้รับผลกระทบจากการบริโภคข้าวไทยที่ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกมีสารแคดเมียมปนเปื้อน โดยระบุว่าข้าวที่เคยปลูกมีคุณภาพดีนั้น เริ่มเปลี่ยนสีดำตั้งแต่ พ.ศ. 2543 

               สถาบันจัดการทรัพยากรน้ำนานาชาติ (IWMI) สำรวจพื้นที่ในปี พ.ศ. 2547 ได้รายงานว่า ค่าแคดเมียมที่ปนเปื้อนในข้าวสารจากพื้นที่บริเวณตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด สูงกว่าค่ามาตรฐาน (0.4 มก./กก.) ถึง 5 เท่า และสาเหตุของข้าวดำเกิดจากสารแคดเมียมสะสมอยู่ในพื้นดินบริเวณนั้นเป็นเวลานาน รัฐบาลไทยจึงสั่งห้ามปลูกข้าวบนพื้นที่ที่มีสารปนเปื้อน และให้ปลูกข้าวโพดแทน  แต่อย่างไรก็ตามผลผลิตการปลูกข้าวโพดนั้นไม่ดีพอที่จะเลี้ยงชีพได้ เกษตรกรบางรายจึงยังคงยึดอาชีพทำนาดังนั้นช่วงระหว่าง พ.ศ. 2547-2550 รัฐบาลได้ออกมาช่วยเหลือรับซื้อข้าวที่มีสารปนเปื้อน เพื่อเผาทำลาย

               สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว รับทราบข้อมูลว่าที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้เข้าไปดำเนินการป้องกันการบริโภคข้าวปนเปื้อนโดยรับซื้อข้าวจากชาวบ้านเพื่อนำไปเผาทำลาย คาดว่า กรณีนี้น่าจะเป็นเรื่องเก่านำมาเล่าใหม่

               สำหรับสินค้าอาหารของไทยที่ส่งออกมายังญี่ปุ่นนั้น จะมีขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพและสารตกค้างโดยฝ่ายญี่ปุ่น ตั้งแต่ก่อนการขนส่งมายังญี่ปุ่น ดังนั้น ผู้บริโภคจึงสามารถมั่นใจได้ว่า สินค้าอาหารไทยปราศจากสารปนเปื้อนใดๆ

 

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?