TH EN
A A A

คุมเข้มเกษตรอินทรีย์ตีตราสมุนไพร 13 ชนิด

12 กุมภาพันธ์ 2552   
               เกษตรแจ้งประกาศพืช 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ซึ่งควบคุมน้อยที่สุด ให้แจ้งเฉพาะการผลิตยาฆ่าแมลงเพื่อจำหน่ายเท่านั้น ยืนยันเอาไปทำสปา อาหาร ยาได้สบาย
 
                นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนทั่วไปกำลังสับสนเกี่ยวกับประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยบัญชีแนบท้ายของประกาศดังกล่าวกำหนดให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่นำไปใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุมแมลงวัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก คึ่นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ซึ่งยืนยันว่าจะไม่กระทบกับวงการพืชสมุนไพรไทยแต่อย่างใด
 
                ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย มาตรา 18 ได้กำหนดประเภทวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอบต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเมื่อจะจำหน่าย จะเห็นว่าพืชทั้ง 3 ชนิดนั้นเป็นชนิดที่ควบคุมระดับต่ำที่สุดหรือผ่อนคลายที่สุด เพราะกำหนดให้แจ้งเมื่อจะผลิตเพื่อจำหน่ายเท่านั้น ไม่ได้เข้าไปควบคุมให้ต้องขึ้นทะเบียนหรือทดสอบทางพิษวิทยาแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้กำหนดให้พืชทั้ง 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 จึงเกิดปัญหาว่าเมื่อจะผลิตเพื่อการค้า เช่น สะเดากำจัดศัตรูพืช จะต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางพิษวิทยาและมีขั้นตอนที่ยุ่งยากเหมือนกับการทดสอบสารเคมีตัวหนึ่ง แต่เมื่อประกาศเป็นประเภทที่ 1 เพียงแค่แจ้งว่าจะผลิตเพื่อจำหน่าย ก็สามารถดำเนินการได้ทันที เป็นการอำนวยความสะดวกให้พืชสมุนไพรที่จะผลิตเป็นยากำจัดศัตรูพืชวางตลาดได้มากที่สุด และยังป้องกันไม่ให้เกิดการหลอกลวงผู้บริโภค เช่น นำพืชมาบดใส่ถุงจำหน่ายแล้วอ้างว่าสามารถกำจัดศัตรูพืชได้
 
                ด้านนายจิรากร  โกศัยเสวี  รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างจัดทำแบบฟอร์มเพื่อเสนอเป็นประกาศของกระทรวงเกษตรฯ โดยระบุให้ผู้ที่จะทำผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชจากพืชทั้ง 13 ชนิดเพื่อจำหน่าย จะต้องกรอกรายละเอียดของส่วนผสมเบื้องต้น และต้องมีชื่อทางการค้า สถานที่ผลิต ปริมาณ ชื่อสารที่มีอยู่ในพืชชนิดนั้น อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ผลิตเพื่อการค้า แต่ผลิตเพื่อใช้เองหรือใช้ภายในกลุ่มก็ไม่ต้องแจ้ง หรือใช้ในวงการอื่น เช่น เป็นยาสมุนไพร เสริมสวยเพื่อสุขภาพหรือบริโภค ก็ไม่ต้องแจ้งเช่นกัน เพราะระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าผลิตเพื่อกำจัดศัตรูพืช โรคพืช หรือควบคุมการเติบโตของพืชเท่านั้น
ที่มา : ไทยรัฐ


บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?