สหรัฐเตรียมการเข้มงวดการติดฉลากประเทศแหล่งกำเนิดสินค้าเกษตรบังคับใช้เต็มรูปแบบมีนาคม 2552 นี้ หลังจากเริ่มใช้กับบางสินค้าก่อนหน้านี้
นางสาวเมทินี สุคนธรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้ออกระเบียบสุดท้ายการติดฉลากภาคบังคับประเทศแหล่งกำเนิดสินค้าตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเกษตร หรือ ฟาร์มบิลปี 2549 และ 2552 หรือเรียกกันว่าระเบียบ COOL เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้เดือนมีนาคม 2552 หลังจากที่ได้ออกเป็นระเบียบชั่วคราวและทยอยบังคับใช้กับบางสินค้ามาก่อนหน้านี้ในช่วง 2-3 ปีแล้ว ทั้งนี้ได้มีการเพิ่มเติมรายการสินค้าที่เข้ามาอยู่ระเบียบให้ครอบคลุมชนิดมากขึ้น และมีการเตรียมการเรื่องการติดตามการปฏิบัติตามกฎหมาย ถือเป็นการบังคับใช้การติดฉลากภาคบังคับประเทศแหล่งกำเนิดสินค้าเต็มรูปแบบ ระเบียบล่าสุดนี้กำหนดให้สินค้าที่มีการวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกายกเว้นในภัตตาคารต้องมีการติดฉลากระบุประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า ได้แก่ เนื้อวัว แกะ ไก่ แพะและสุกร สินค้าประมง สินค้าเกษตรเน่าเสียง่าย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักผลไม้แช่แข็งและสด) เมล็ดมะคาเดเมีย ถั่วพีแคน โสม และถั่วลิสง ในระเบียบจะกำหนดรายละเอียดสำหรับแต่ละสินค้า สินค้าประมงจะต้องมีการระบุเพิ่มเติมว่าเพาะเลี้ยงหรือมาจากการจับด้วย ทั้งนี้ยกเว้นสินค้าแปรรูปจากสินค้าดังกล่าวที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมีแล้ว เช่น รมควัน หรือ การนำไปผสมกับสินค้าอื่นๆ เช่น ใส่ซอสมะเขือเทศ ห่อด้วยขนมปัง เป็นต้น ไม่ต้องติดฉลากระบุประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาและผู้จัดหาสินค้าให้ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลไว้เป็นเวลา 1 ปีเพื่อให้ตรวจสอบได้ นอกจากนี้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯได้เตรียมการเรื่องการบังคับใช้ระเบียบนี้โดยทำความตกลงกับ 42 มลรัฐภายในสหรัฐเพื่อทำการตรวจติดตามเฝ้าระวังในระดับการค้าปลีกว่าจะ
มีการดำเนินการตามระเบียบหรือไม่ ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐอเมริกา เช่น ผักผลไม้ สินค้าประมง ควรศึกษาข้อกำหนดเหล่านี้เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าของตนเป็นไปตามข้อกำหนด อย่างไรก็ตาม สินค้าประมงซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกหลักตลาดหนึ่งของไทยนั้นมีการใช้ระเบียบนี้มาก่อนหน้านี้เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงไม่น่ามี ปัญหา ในการดำเนินการของไทยแต่อย่างใด ที่มา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
|