เกษตรฯ-พาณิชย์ ออกโรงยันข้าวไทยปลอดเชื้อราอัลฟลาท็อกซิล ชี้น่าจะเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง หรือ เก็บรักษาในญี่ปุ่น แนะผู้ส่งออกเพิ่มความระมัดระวัง หวั่นประเทศผู้นำเข้ารายอื่นออกมาตรการคุมเข้มข้าวไทย
นายจรัลธาดา กรรณสูตร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตนได้รับแจ้งจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ว่า ญี่ปุ่นตรวจพบสารอัลฟาท็อกซินบี 1 ซึ่งเป็นเชื้อราในข้าวของไทย โดยข้าวที่ถูกตรวจพบสารดังกล่าว เป็นข้าวที่ส่งออกไปตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2551 จำนวน 87 ตัน เป็นข้าวหักหรือข้าวเกรดต่ำ ที่ส่วนใหญ่ผู้นำเข้าจะนำไปหมักเป็นเหล้าหรือแปรรูปไม่ใช่เพื่อการบริโภคโดยตรง ทั้งนี้ปริมาณข้าวที่ตรวจพบสารอัลฟลาท็อกซิล มีจำนวน 1 ตัน และได้ทำลายทิ้งไปแล้ว โดยตรวจพบปริมาณสาร 0.04 PPM เพื่อความปลอดภัยญี่ปุ่นได้สั่งให้ตรวจสอบข้าวไทยในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด 3,421 ตัน ซึ่งไม่พบสารอัลฟลาท็อกซิล สารอัลฟลาท็อกซิลเป็นสารที่สามารถเกิดขึ้นได้กรณีมีความชื้น และส่วนใหญ่เกิดขึ้นในข้าวโพด ถั่ว ส่วนข้าวไม่เคยตรวจพบมาก่อน เมื่อเทียบระยะเวลาที่ไทยส่งออกข้าวล็อตนี้ไปญี่ปุ่น จึงเป็นไปได้ที่โกดังในญี่ปุ่นอาจเก็บข้าวไว้ไม่ดี จึงเกิดอัลฟลาท็อกซิลขึ้นได้
นายจรัลธาดา กล่าวอีกว่า การตรวจพบสารอัลฟลาท็อกซิลครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ข้าวไทยมาก ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้นำเข้า และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกข้าวในปี 2552 ผู้ส่งออกควรปฏิบัติตามขั้นตอนการส่งออก และระมัดระวังเรื่องสารตกค้าง ขณะที่กระทรวงเกษตรฯจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในญี่ปุ่นเพื่อชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น
นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา ได้ชี้แจงการตรวจสอบพบสารอัลฟลาท็อกซิลในข้าวไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2551 อาจเป็นไปได้ว่า สารดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง และเก็บรักษาในประเทศญี่ปุ่น เช่น โดนเกล็ดหิมะ หรือละอองฝน เพราะไทยส่งออกข้าวล็อตนั้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน แต่ญี่ปุ่นเพิ่งพบเมื่อเดือนตุลาคม หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขายข้าวดังกล่าวให้กับผู้ผลิตอาหารแปรรูปในประเทศและผู้ผลิตรายนั้นตรวจพบ และก่อนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารต่างๆ ทุกครั้ง กระทรวงเกษตรฯของไทยตรวจสอบอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว ทั้งสารเคมีตกค้าง เชื้อโรค และสารปนเปื้อนในผักสด เมื่อพบว่าไม่มีสารใดๆ ตกค้างหรือเชื้อโรคปนเปื้อน จึงออกใบรับรองความปลอดภัยให้ส่งออกได้ อย่างไรก็ตาม ขอแจ้งเตือนให้ผู้ส่งออกระมัดระวัง ตรวจสอบสินค้าก่อนการส่งออกให้ดี เพื่อรักษามาตรฐานสุขอนามัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ