TH EN
A A A

แคนาดาพบสารเคมีตกค้างในลองกองไทย

19 พฤศจิกายน 2551   
              เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2551 กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ว่า จากการสุ่มตรวจสินค้าลองกองที่นำเข้าจากประเทศไทย โดยหน่วยงานตรวจสอบอาหารแห่งแคนาดา (Canadian Food Inspection Agency – CFIA) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2550 ได้พบสาร Cypermenthrin ตกค้างในผลลองกอง ซึ่งมีบริษัท First Fresh Fruit Vegetable Co.,Ltd. ในกรุงเทพฯ เป็นผู้ส่งออก โดยพบปริมาณสารดังกล่าวอยู่ที่ 0.342 ppm ซึ่งสูงกว่าค่าที่ทางการแคนาดากำหนดไว้ที่ 0.1 ppm
           
          หลังการตรวจพบ CFIA ได้กำหนดให้สินค้าลองกองจากบริษัทดังกล่าวอยู่ในข่ายเฝ้าระวัง (Surveillance Phase) โดยสินค้าที่อยู่ในข่ายนี้ 5 ตัวอย่าง จะถูกคัดเลือกและวิเคราะห์ หากผลการวิเคราะห์พบว่ามีสารเคมีตกค้างต่ำกว่าค่ากำหนดทุกครั้ง สินค้าลองกองของบริษัทฯ จะถูกย้ายกลับไปอยู่ในข่ายตรวจตรา  (Monitoring Phase) แต่หากพบสารเคมีตกค้างสูงกว่ากำหนดในการตรวจสอบครั้งใดก็ตาม ลองกองของบริษัทฯ จะถูกจัดให้อยู่ในข่ายต้องให้ความยินยอม (Compliance Phase) ซึ่ง CFIA จะนำขึ้นประกาศไว้ที่เว็บไซต์
http://www.inspection.gc.ca
ต่อไป และจะมีผลให้

          1. ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกสินค้าอาหาร/เกษตรนั้นๆ จะต้องนำสินค้า 5 loads ต่อไป ไปขอรับการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการยอมรับก่อนที่จะส่งสินค้าออก และจะต้องนำเอกสารรับรองจากห้องปฏิบัติการที่ระบุว่าไม่มีสารเคมีตกค้าง หรือมีปริมาณสารตกค้างในสินค้า ในระดับต่ำกว่าที่กำหนด ให้กับเจ้าหน้าที่ของ CFIA (Ms. Sylvio Jubinville,Agrifood Division) โทรสาร +613-221-7204 รวมทั้งแนบสำเนาเอกสารดังกล่าวไปพร้อมกับการส่งสินค้าครั้งต่อไปทุกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ส่งออกจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบเองทั้งหมด ซึ่งวิธีการนี้ จะช่วยให้สินค้าไม่ต้องถูกกักไว้นาน เมื่อมาถึงแคนาดา และแม้จะผ่านกระบวนการตรวจสอบแล้ว แต่สินค้าใน load ต่อๆไป ก็อาจถูกสุ่มตรวจได้อีกเป็นระยะๆ

          2.  สินค้าส่งออก 5 loads ต่อไป ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบ จะถูกกักกันเมื่อถึงตลาดหรือพรมแดนของแคนาดา และ CFIA จะสุ่มตรวจปริมาณสารเคมีตกค้างในสินค้าดังกล่าวก่อนที่ปล่อยของออก โดยค่าใช้จ่ายต่างๆที่จะเกิดขึ้น ผู้ส่งออกจะต้องรับภาระ

          ทั้งนี้ สามารถติดต่อกับ Ms.Irena Frenkel หัวหน้ากลุ่มความปลอดภัยสินค้าสด ฝ่ายผักและผลไม้สด ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ +613-221-7231
 
 
ที่มา : กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กองสนเทศเศรษฐกิจ

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?