เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551 ที่ประชุมคณะกรรมการอาหารมีมติให้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเกณฑ์การปนเปื้อนสารเมลามีนในอาหารที่ผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายใหม่ โดยแยกออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1. นมทารกชนิดน้ำ ยูเอชที ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม 2. นมผง ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 3. ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เช่น โยเกิร์ต ลูกอม ช็อคโกแลต เป็นต้น ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือทั้งจำและปรับ โดยจะเร่งทำคำสั่งเสนอให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.สาธารณสุขพิจารณาลงนามหลังจากประกาศฉบับนี้ภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตรวจหาสารเมลามีนตามที่ สธ.กำหนดเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกใบรับรองก่อน จึงจะวางผลิตภัณฑ์จำหน่ายร้านค้า ห้างสรรพสินค้าได้
นพ.ชาตรี บานชื่น เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์อาหาร 4 รายการที่ถูกสั่งเก็บก่อนหน้านี้คือ 1. เวเฟอร์ สติกไวด์ ช็อกโกแลต เวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลตขาว ตราโอรีโอ นำเข้าโดยบริษัท ดีทแฮล์ม 2. ช็อกโกแลตนมตราโดฟ 3. ช็อกโกแลตนมเคลือบน้ำตาลสีต่างๆ ตราเอ็มแอนด์เอ็ม และ 4. ถั่วลิสงคาราเมลและนูกัส เคลือบช็อกโกแลตนม ตราสติกเกอร์ส ทั้งหมดนำเข้าจากบริษัท มาร์ส ไทยแลนด์ อิงค์ นั้น ขณะนี้ อย.ตรวจสอบแล้วพบว่าปลอดภัย ดังนั้นจะเร่งออกใบรับรองเพื่อให้ผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายได้ตามปกติต่อไป
ขณะนี้ อย.ได้อายัดนมผงนำเข้าจากจีน จำนวน 20 ตัน นำเข้าโดยบริษัท ดัชมิลล์ โดยผลตรวจสอบครั้งแรกพบสารเมลามีนปนเปื้อนประมาณ 0.33-0.55 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นปริมาณที่น้อยมากไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต และเชื่อว่าเป็นการปนเปื้อนจากธรรมชาติมากกว่า
ที่มา : โพสต์ทูเดย์