TH EN
A A A

หนิงเซี่ยรุกตลาดส่งออกสินค้าและอาหารฮาลาลในประเทศมุสลิม

6 สิงหาคม 2551   

              Nxnews  เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551  He Zhaojun  ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ กรมพาณิชย์ เขตปกครองตนเองชนชาติหุย หนิงเซี่ยแถลงว่า หนิงเซี่ยมีแผนรุกตลาดส่งออกสินค้าและอาหารฮาลาลในประเทศมุสลิม เนื่องด้วยเหตุผล ดังนี้
1) มูลค่าการค้าของประเทศมุสลิม 57  ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีชาวมุสลิมรวมกว่า 1,500 ล้านคน อยู่ที่ 1  ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ประกอบด้วยการค้าอาหารฮาลาลถึงมูลค่า  150,000  ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ทั้งนี้ การค้ารวมของจีนกับประเทศมุสลิมมีมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (จีนมีชาวมุสลิมรวม 20 ล้านคน)
2) ปี 2550  มูลค่าการค้ารวมระหว่างหนิงเซี่ยกับ 20 ประเทศมุสลิม 133 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เป็นการส่งออก 80.52  ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 ของมูลค่าการส่งออกของหนิงเซี่ย  โดยส่งออกสินค้าราว 50 ชนิด ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป 15 ชนิด
3) หนิงเซี่ยกำหนดเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 5 ปีนี้จะพัฒนาการส่งออกสินค้าไปยังประเทศมุสลิมให้เติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี โดยจะใช้ข้อได้เปรียบทางด้านศาสนา และวิถีประเพณีการดำรงชีวิตที่คล้ายคลึงกันเจาะตลาดประเทศในตะวันออกกลาง อาเซียน และเอเชียกลาง ทั้งนี้จะใช้สินค้าส่งออก 15 ประเภทเป็นฐานสำคัญในการเปิดตลาด และช่วยฝึกอบรมและพัฒนาวิสาหกิจสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น อาหารฮาลาล มันฝรั่ง เมล็ดถั่วต่าง ๆ ผัก เนื้อวัวและแพะ และเครื่องใช้มุสลิม เป็นต้น
4 ) Abdullah he manjie Ullrich ประธานสมาคมมิตรภาพซาอุดิอาระเบีย-จีน และประธานสมาคม The Saudi Council of Commercial &Industrial Chamber (CCIC) ได้เคยให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวเมื่อครั้งเยือนหนิงเซี่ยในงานการประชุมเศรษฐกิจการค้าจีน-ซาอุดิอาระเบียว่า วงการธุรกิจของซาอุดิอาระเบียนิยมสินค้าจากจีน แต่หากจีนต้องการเจาะตลาดประเทศอาหรับแล้ว จำเป็นต้องรับประกันเรื่องคุณภาพสินค้าเป็นอันดับแรก และข่าวสารข้อมูลระหว่างบริษัทในจีนกับซาอุดิอาระเบียยังไม่ลื่นไหลเท่าทีควร
5) สาเหตุหลักที่ปริมาณสินค้าส่งออกสู่ประเทศมุสลิมของหนิงเซี่ยยังน้อยอยู่   เนื่องจากสินค้าของหนิงเซี่ยไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดประเทศมุสลิม   หนิงเซี่ยจึงกำหนดโครงการบ่มเพาะตราสินค้า “อาหารฮาลาล” และกำหนดเครื่องหมายมาตราฐานสินค้าส่งออก    สร้างระบบมาตรฐานคุณภาพอาหารและสินค้ามุสลิม   นอกจากนี้ ยังกำหนดนโยบายพิเศษเพื่อดึงดูดสถาบันการเงิน องค์กรภาคเอกชน และบริษัทขนาดใหญ่ต่าง ๆ ของประเทศมุสลิมให้มาตั้งสำนักงานตัวแทนในหนิงเซี่ย เพื่อพัฒนาช่องทางการติดต่อระหว่างกัน

ที่มา  :  ศูนย์ข้อมูลธุกรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?