TH EN
A A A

ทั่วโลกเคลื่อนไหว ภายใต้เป้าหมาย "ลดอาหารเหลือทิ้ง"

19 ตุลาคม 2563    ครั้ง

ทั่วโลกเคลื่อนไหว ภายใต้เป้าหมาย
"ลดอาหารเหลือทิ้ง"

ประจำเดือนพฤศจิกายน 2563

เดนมาร์ก

                 ซูเปอร์มาร์เก็ต WeFood “Surplus Supermarket” ในเดนมาร์ก เปิดตัวเมื่อปี 2559 จากการริเริ่มขององค์กรสาธารณะที่มีพันธกิจในการช่วยเหลือผู้ยากไร้ ต่อต้านความหิวโหย ทั้งยังช่วยลดปัญหาอาหารเหลือทิ้งที่เป้าหมายสูงสุด 700,000 ตันต่อปี โดยหมุนเวียน จำหน่ายสินค้าเบเกอรี ขนมอบ และผักผลไม้ ที่ใกล้หมดอายุฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ไม่สมบูรณ์ หรือเกินกำหนด Best Before แต่ยังปลอดภัย

                 ทุกวันนี้ WeFood รับสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ โรงงานผลิต-แปรรูปอาหารและโรงแรมที่ใช้วัตถุดิบไม่ทัน โดยมีจิตอาสาตระเวนรับอาหารทั่วกรุงโคเปนเฮเกน 5 ปีที่ผ่านมา เดนมาร์กสามารถลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งลงได้ถึง 25%

สหรัฐอเมริกา

                 - โครงการ Winning on Reducing Food Waste Initiative ของรัฐบาลกลาง ตั้งเป้าลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งทั่วประเทศ 50% ภายในปี 2573 สอดคล้องกับเป้าหมาย FAO

                 - ผู้ประกอบการรายใหญ่ 25 แห่ง ร่วมลงนามผลักดันโครงการ US Food Loss and Waste 2030 Champions ตั้งเป้าลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งในกิจการของตน 50% ในปี 2573

                 - องค์กรเอกชนจับมือภาครัฐจัดทำโปรแกรม Rethink Food Waste Trough Economy and Date (ReFED) ตั้งเป้าลดอาหารเหลือทิ้งลง 30% ภายในปี 2573

ฝรั่งเศส

                 “กฎหมายอาหารเหลือทิ้ง” ที่บังคับใช้อย่างเป็นทางการฉบับแรกของโลกเมื่อปี 2559 ห้ามไม่ให้ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศทิ้งอาหาร ใกล้หมดอายุ แต่ให้บริจาคไปยัง Food bank หรือองค์กรการกุศล ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนอาจถูกปรับสูงสุดถึง 150,000 บาท

แคนาดา

                 โดย National Zero Waste Council ได้จัดทำยุทธศาสตร์ “National Multi-year Food Waste Reduction Strategy” ตั้งเป้าหมายลดอาหารเหลือทิ้งที่จะนำไปฝังกลบ บนพื้นฐานหลัก คอื ด้านนโยบายที่กำหนดเป้าลดอาหารเหลือทิ้ง 50% ภายในปี 2573 และใช้มาตรการจูงใจด้านภาษี ด้านนวัตกรรมที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีลดอาหารเหลือทิ้งหรือเทคโนโลยียืดอายุอาหาร และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนด้วยการรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาอาหารเหลือทิ้ง

เกาหลีใต้

                 - วัฒนธรรมการบริโภคของคนเกาหลีใต้มักมีเครื่องเคียง(Banchan) จานเล็กๆ ที่เสิร์ฟพร้อมอาหารจานหลัก ซึ่งรับประทานไม่หมดจนกลายเป็นอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก เกาหลีใต้จึงริเริ่มมาตรการนำกลับมาใช้ใหม่ บังคับใช้นโยบายห้ามฝังกลบอาหารเหลือทิ้ง ห้ามปล่อยน้ำขยะในเเหล่งน้ำ พร้อมกำหนดให้ใช้ถุงบรรจุที่ย่อยสลายได้

                 - ล่าสุดเกาหลีใต้นำเทคโนโลยี "ถังขยะอัจฉริยะ" มาจัดการอาหารเหลือทิ้งโดยถังขยะดังกล่าวจะติดตั้งเครื่องชั่งเก็บข้อมูลน้ำหนักเศษอาหาร และเก็บข้อมูล Radio Frequency Identification (RFID) ผู้ใช้ถังขยะอัจฉริยะที่ผูกเลขบัตรประชาชน พร้อมส่งใบเเจ้งหนี้ไปยังที่พักอาศัย

                 - ทุกวันนี้ เกาหลีใต้สามารถลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งได้ถึง 400 ตัน/วัน

ญี่ปุ่น

                 - “ญี่ปุ่นตั้งเป้าลดอาหารเหลือทิ้งในครัวเรือนลง 50% ในปี 2573” โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานท้องถิ่นของญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งลง 50% ในภายในปี 2573 ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะรณรงค์สร้างความตระหนักถึงปัญหาอาหารเหลือทิ้งในกลุ่มครัวเรือน

                 - ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น เป็นกิจการที่มีการผลิตอาหารเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก เนื่องจากจะต้องวางสินค้าอาหารให้หลากหลาย และจำนวนมาก เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ แต่ในแต่ละวันอาหารดังกล่าว อาจจำหน่ายไม่หมด และเหลือทิ้ง ร้านสะดวกต่าง ๆ จึงออกแคมเปญ ลดราคาอาหารใกล้หมดอายุ ซึ่งอาหารดังกล่าวจะติดฉลาก และ
เริ่มวางจำหน่ายในช่วงเวลา 4 โมงเย็น

สหราชอาณาจักร

                 Vision 2020 : UK Roadmap to Zero Food Waste to Landf ill มีแผนลดการกำจัดอาหารเหลือทิ้งจากกระบวนการฝังกลบ ซึ่งกำหนดเป้าหมายอาหารเหลือทิ้งฝังกลบเป็นศูนย์ ภายในปี 2563 เนื่องจากการกำจัดอาหารเหลือทิ้งด้วยกระบวนการดังกล่าวเป็นสาเหตุของก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 8% และสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน

สหภาพยุโรป

              “กฎหมายประเมิน Food Waste อย่างเข้มข้น” คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศใช้กฎหมาย เรื่องวิธีการประเมินอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste Measurement Methodology) เพื่อสนับสนุนให้รัฐสมาชิกแสดงปริมาณอาหารเหลือทิ้งในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากในแต่ละปีเกิดอาหารเหลือทิ้งประมาณ 20% ของสหภาพยุโรป ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นที่ยอมรับ รวมถึงเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ คณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้นำแผนเศรษฐกิจหมุนเวียน (The Circular Economy Action Plan) ที่เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มาควบคุม และใช้ Food Waste Measurement Methodology เป็นกลไกบริหารข้อมูล

              โดยมีจุดมุ่งหมายในการลดอาหารเหลือทิ้งจากร้านค้าปลีกและผู้บริโภคลง 50% ภายในปี 2573

 

ที่มา : วารสารเพื่อการเตือนภัยสินค้าเกษตรเเละอาหาร ปีที่ 11 รายไตรมาศ เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2562

 

อัลบั้มภาพ