TH EN
A A A

การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2562)

17 เมษายน 2562    ครั้ง

 

มาตรฐานน่ารู้ : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด
(มกษ.8202-2560)

ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2562

                องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ (Food and Agriculture Organization of the United Nations ; FAO) ได้ส่งเสริมให้คนหันมาบริโภคแมลงหลายชนิด รวมทั้งจิ้งหรีดซึ่งเป็นเเมลงที่บริโภคได้ถือเป็นความหวังสำคัญต่อการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารของโลก เนื่องจากเป็นเเหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ที่มีราคาถูกและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น

                รัฐบาลไทยจึงได้เล็งเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและมีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงเเมลงในเชิงพาณิชย์ เช่น  จิ้งหรีด ตั๊กเเตน หนอนไหม และเเมงดานาเเละได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีด เนื่องจากเป็นเเมลงที่เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่และน้ำน้อยในการเลี้ยง รวมทั้งไม่ต้องใช้เทคโนโลยีและต้นทุนในการเลี้ยงที่สูง จึงเหมาะสมกับพื้นที่เเห้งเเล้งหรือพื้นที่ชนบท ทำให้เป็นการเพิ่มรายได้ให้เเก่เกษตรกรในช่วงหลังการทำนาหรือในช่วงเเห้งเเล้ง

                กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักกำหนดมาตรฐาน มกอช. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยของของผลิตผลจากจิ้งหรีดโดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรองตามมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เพื่อรองรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด

     มาตรฐานดังกล่าวมีข้อกำหนดที่สำคัญ ได้เเก่

  -องค์ประกอบฟาร์ม : ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมไม่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนอันตราย มีการวางผังฟาร์มที่ดีและจัดพื้นที่เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน เหมาะสมตามวัตถุประสงค์ โรงเรือนและบ่อเลี้ยงจิ้งหรีด สร้างด้วยวัสดุที่เเข็งเเรง ง่ายต่อการทำความสะอาด และบำรุงรักษา

  -การจัดการฟาร์ม : มีคู่มือการปฏิบัติงานประจำฟาร์มที่เเสดงรายละเอียดการปฏิบัติงานที่สำคัญภายในฟาร์ม มีการคัดเลือกพันธ์ุจิ้งหรีดที่มีคุณภาพ มีการเตรียมบ่อเลี้ยงจิ้งหรีดโดยใช้วัสดุหลบซ่อนตัวที่สะอาด ภาชนะและวัสดุที่ใช้รองไข่ต้องสะอาด และบุคลากรที่ทำหน้าที่เลี้ยงจิ้งหรีดต้องมีความรู้และได้รับการฝึกอบรม เพื่อให้เลี้ยงจิ้งหรีดได้อย่างถูกต้อง

 

  -สุขภาพสัตว์ : มีการป้องกันและฆ่าเชื้อโรค อุปกรณ์ และบุคคลก่อนเข้า-ออกจากฟาร์ม รวมทั้งการบำบัดโรคสัตว์ให้อยู่ภายใต้ความดูเเลของสัตวเเพทย์

  -สิ่งเเวดล้อม : กำจัดหรือจัดการขยะ ของเสีย และมูลจิ้งหรีดด้วยวิธีการที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ

  -การบันทึกข้อมูล : มีการบันทึกข้อมูลผลการปฏิบัติงานในขั้นตอนที่สำคัญในการจัดการฟาร์มที่มีผลต่อสุขภาพผลผลิตและการควบคุมโรค โดยให้เก็บรักษาบันทึกเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี

 

 

 

อัลบั้มภาพ