เรื่องที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเมื่อสมัยผู้เขียนยังรับราชการอยู่ที่สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงแคนเบอร์ราประเทศออสเตรเลีย เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว
วันหนึ่งสำนักงานที่ปรึกษาฯ ได้รับจดหมายจากด่านตรวจสอบและกักกันออสเตรเลีย (AQIS) ประจำนครซิดนีย์ ขอความร่วมมือในการสืบสวนการส่งสินค้าผิดกฎหมายจากประเทศไทยไปออสเตรเลีย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชออสเตรเลียได้ตรวจพบความผิดปกติของสินค้าตู้หนึ่งซึ่งตามใบรับรองปลอดศัตรูพืชที่ออกโดยกรมวิชาการเกษตร ระบุว่าสินค้าที่อยู่ในตู้คือมะพร้าวอ่อนกับขิงแช่แข็ง (young coconut, frozen ginger) ซึ่งตามกฎหมายกักกันพืชออสเตรเลียนั้นอนุญาตให้สินค้าทั้งสองชนิดเข้าประเทศได้ โดยในกรณีของขิงนั้น กฎหมายระบุไว้ว่าขิงแช่แข็งจากประเทศไทยนำเข้าได้ แต่ขิงสดเป็นสิ่งต้องห้าม ที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกตินั้นก็เพราะว่าอุณหภูมิของตู้นี้เป็นอุณหภูมิของตู้แช่เย็นธรรมดา ไม่ใช่อุณหภูมิของตู้แช่แข็ง จึงไม่น่าจะเก็บรักษาขิงแช่แข็งได้ ประกอบกับผู้นำเข้ารายนี้มีข่าวในทางลับว่าเป็นผู้นำเข้าสินค้าต้องห้ามอยู่เสมอ และทางการก็เฝ้ามองอยู่ ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงเปิดตู้ตรวจอย่างละเอียด และก็เป็นอย่างที่เจ้าหน้าที่คาดการณ์ไว้ แถวแรก ๆของกล่องสินค้าเป็นมะพร้าวอ่อน ส่วนแถวหลัง ๆ เป็นขิงสดส่วนจะอ่อนหรือแก่ขนาดไหนเจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุไว้ในรายงาน
ขั้นตอนต่อไปของกระบวนการดำเนินงานของทางการออสเตรเลียก็คือหาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะบริษัทผู้นำเข้ารายนี้มักพยายามหลบเลี่ยงกฎหมายอยู่เสมอ และโทษระดับนี้ท่านว่าบริษัทผู้นำเข้าอาจถูกปรับสูงถึง 3 แสนเหรียญออสเตรเลีย หรือประมาณเกือบ 10 ล้านบาท หรืออีกนัยหนึ่งถ้าศาลพบว่าผิดจริงบริษัทอาจจะถึงขั้นต้องเลิกกิจการ ผลการสอบสวนเบื้องต้นเจ้าของบริษัทให้การว่าเขาไม่ได้สั่งขิงสดแต่ทางผู้ส่งออกของไทยส่งมาให้เองด้วยความเข้าใจผิด ส่วนผลการตรวจค้นพบเอกสารประกอบการสั่งสินค้าและใบเรียกเก็บเงินซึ่งรายละเอียดระบุว่าเป็นมะพร้าวอ่อนกับขิง ซึ่งเมื่อถึงตอนนี้ทางการออสเตรเลียก็มาถึงทางตัน เพราะต้องการหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือเอกสารใบสั่งสินค้าของผู้นำเข้าที่สั่งให้ผู้ส่งออกของไทยส่งขิงสดมาให้ เพื่อใช้เอาผิดกับผู้นำเข้า แต่หลักฐานชิ้นนี้ถ้ามีอยู่ก็จะอยู่ที่ผู้ส่งออกของไทย ทางการออสเตรเลียไม่สามารถก้าวล่วงไปสืบสวนสอบสวนผู้ส่งออกของไทยได้ จึงติดต่อขอความร่วมมือจากสำนักงานที่ปรึกษาฯ ขอให้ช่วยดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบของไทยในการค้นหาเอกสารชิ้นนี้ให้ด้วย พร้อมกันนั้นก็ได้ส่งเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้สำนักงานที่ปรึกษาฯ ใช้ประกอบการดำเนินการ
เรื่องนี้ทำให้สำนักงานที่ปรึกษาฯ ต้องคิดหนัก เพราะหน้าที่หลักของสำนักงานนั้นนอกจากจะสร้างความสัมพันธ์และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของออสเตรเลียแล้วเรายังต้องติดตามดูแลผลประโยชน์ของผู้ส่งออกของเราไม่ให้ถูกกีดกันโดยไม่เป็นธรรมด้วย กรณีของผู้ส่งออกรายนี้ไม่น่าจะเข้าข่ายถูกกีดกันโดยไม่เป็นธรรม แต่เป็นการที่ผู้ส่งออกละเมิดกฎหมายของออสเตรเลียทั้งขาขึ้นและขาล่อง เพราะถ้าผู้ส่งออกส่งขิงสดไปเองโดยที่ผู้นำเข้าไม่ได้สั่งก็จะเข้าข่ายเป็นผู้ละเมิดกฎหมายโดยตรง แต่ถ้าส่งมาตามคำสั่งของผู้นำเข้าก็เข้าข่ายผู้สมรู้ร่วมคิด แถมจะพลอยให้ผู้ส่งออกรายอื่นถูกเพ่งเล็งโดยทางการออสเตรเลียต่อไปในอนาคตอีกด้วย แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคืออาจส่งผลเสียหายถึงความน่าเชื่อถือต่อระบบการออกใบรับรองและการตรวจสอบสินค้าออกของกรมวิชาการเกษตรอีกด้านหนึ่งด้วย สำนักงานที่ปรึกษาฯ จึงตัดสินใจที่จะให้ความร่วมมือกับทางการออสเตรเลียในการค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้
จากการตรวจสอบใบรับรองปลอดศัตรูพืชเบื้องต้น สำนักงานที่ปรึกษาฯ พบว่ามีความผิดปกติในตัวอักษรของคำว่าขิงแช่แข็ง (frozen ginger) ที่ระยะตัวพิมพ์ห่างจากคำว่ามะพร้าวอ่อน(young coconut) มากกว่าปกติและตัวพิมพ์สีเข้มกว่ากันเล็กน้อย เหมือนไม่ได้พิมพ์ในคราวเดียวกัน ซึ่งเมื่อส่งเรื่องมาให้สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรตรวจสอบ ก็พบว่าในต้นฉบับที่สำนักควบคุมฯ ออกให้แก่ผู้ส่งออกรายนี้ระบุไว้แต่มะพร้าวอ่อนเพียงอย่างเดียว ส่วนคำว่าขิงแช่แข็งในฉบับที่ส่งไปกับสินค้านั้นเป็นการพิมพ์เพิ่มเข้าไปในภายหลัง ซึ่งผลของการสอบสวนผู้ส่งออกยอมรับว่าเป็นผู้พิมพ์เพิ่มเข้าไปจริง และส่งผลให้ผู้ส่งออกรายนี้ถูกดำเนินคดีฐานปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ ส่วนผลของการดำเนินคดีเมื่อถึงที่สุดแล้วเป็นอย่างไรนั้นไม่อาจทราบได้ เพราะผู้เขียนย้ายจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงแคนเบอร์ราประเทศออสเตรเลียไปประจำที่สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงบรัสเซลส์ประเทศเบลเยียมเสียก่อน ส่วนการค้นหาเอกสารใบสั่งจากผู้นำเข้าออสเตรเลียหรือสอบสวนผู้ส่งออกในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดีของฝ่ายออสเตรเลียนั้นได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของกรมวิชาการเกษตรในขณะนั้นว่าทำไม่ได้ เพราะผู้ส่งออกมิได้ละเมิดกฎหมายไทยในเรื่องเหล่านั้น ทางการของไทยจึงมุ่งดำเนินคดีผู้ส่งออกในประเด็นปลอมแปลงเอกสารของทางราชการแต่เพียงเรื่องเดียว ซึ่งทางการออสเตรเลียได้รับทราบแล้ว ไม่ทราบเช่นกันว่าความพยายามที่จะดำเนินคดีกับผู้นำเข้าสัมฤทธิผลหรือไม่
ในช่วงเวลา 9 ปีที่ผู้เขียนรับราชการอยู่ในสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ผู้เขียนได้พบเห็นการปลอมแปลงเอกสารทางราชการประเภทต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยบุคคลหลายกลุ่ม หลายรูปแบบด้วยกัน เช่นปลอมแปลงใบอนุญาตนำเข้าสินค้าส้มของกรมวิชาการเกษตร ปลอมแปลงใบรับรองสุขอนามัยอาหารทะเลส่งออกของกรมประมง ปลอมแปลงใบอนุญาตนำเข้านกพิราบแข่งของกรมปศุสัตว์ ปลอมแปลงหนังสือรับรองของกรมป่าไม้ และแม้กระทั่งการสวมใบรับรองของกรมประมง และเชื่อว่าที่ได้เห็นคงจะเป็นเพียงส่วนน้อยของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และเป็นส่วนน้อยของการปลอมแปลงเอกสารที่ทางการประเทศต่าง ๆ ตรวจพบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้บางหน่วยงานให้ความสนใจในการติดตามแก้ไขอย่างใกล้ชิด แต่บางหน่วยงานไม่สู้กระตือรือล้นที่จะติดตามแก้ไข ซึ่งก็อาจจะเนื่องมาจากข้อคิดหรือมุมมองที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละหน่วยงาน ในส่วนของผู้เขียนมีความเห็นว่าเอกสารรับรองที่ออกโดยทางราชการนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นการเอาชื่อเสียงและเกียรติยศของหน่วยงานที่ออกเอกสารและของประเทศเป็นประกัน ดังนั้นถ้าการรับรองพิสูจน์ว่าเป็นเท็จ หรือแม้กระทั่งกรณีของการปลอมแปลงเอกสารใบรับรอง ก็ล้วนแต่ส่งผลเสียร้ายแรงและสะท้อนให้เห็นข้อบกพร่องที่มีอยู่ในกระบวนการตรวจสอบและการออกใบรับรองของหน่วยงานนั้น ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งข้อบกพร่องเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีก็จะส่งผลเสียถาวรต่อชื่อเสียงของหน่วยงานนั้น ส่วนในสายตาของหน่วยงานตรวจสอบของต่างประเทศนั้นคงไม่ต้องพูดถึง เอกสารรับรองทุกฉบับน่าสงสัยและไร้ค่าไปหมด ตัวสินค้าก็อยู่ในสถานะเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้มาตรการตรวจสอบสินค้าก็จะต้องเข้มงวดไปด้วย ผู้นำเข้าเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา แล้วใครจะอยากค้าขายกับเราถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ
ยังมีตัวอย่างเรื่องการปลอมแปลงใบรับรองที่แปลกประหลาดที่อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เป็นการปลอมแปลงใบรับรองของประเทศนิวซีแลนด์ เจ้าหน้าที่ของนิวซีแลนด์ค่อนข้างปวดหัวมากที่ตรวจพบว่ามีผู้ส่งออกจากหลายประเทศปลอมแปลงต้นกำเนิดสินค้าและใบรับรองว่าเป็นสินค้าของนิวซีแลนด์ ทั้งนี้เพราะสินค้าของนิวซีแลนด์เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัย เมื่อมาถึงประเทศปลายทางก็จะไม่ต้องถูกตรวจสอบเข้มงวด เจ้าหน้าที่นิวซีแลนด์ทราบเรื่องนี้เมื่อเรื่องแดงขึ้นว่ามีสินค้าไม่ได้มาตรฐานมาจากนิวซีแลนด์ แต่เมื่อตรวจสอบรายละเอียดในใบรับรองแล้วก็พบว่าเป็นใบรับรองปลอม ทางการนิวซีแลนด์แก้ปัญหาการปลอมใบรับรองโดยเพิ่มลวดลายและใส่ลายน้ำไว้ในใบรับรองทำให้ยากต่อการปลอมแปลง และคงจะคิดค้นวิธีการอื่น ๆ ที่จะป้องกันการปลอมแปลงต่อไปในอนาคต
เมื่อมาถึงตอนนี้หลายท่านคงลงความเห็นได้แล้วว่าเราควรจะเดินต่อไปอย่างไร เป็นที่น่ายินดีว่าปัจจุบันมีหลาย ๆ ประเทศมีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้และเพิ่มประสิทธิภาพในการออกใบรับรองประเภทต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นโดยใช้ระบบอีเล็คโทรนิคแทน เราเดินทางมาถึงยุคดิจิตัลแล้วก็ได้แต่หวังว่าระบบที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้จะช่วยแก้ปัญหาให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ที่มา : มกอช. สรุปโดย : มกอช.