เมื่อพูดถึงกระต่าย ผู้อ่านหลายท่านคงจะนึกภาพไปถึงเจ้ากระต่ายน้อยขนยาวขาวปุย ตาสีแดงทับทิม แสนเชื่อง น่าทนุถนอมเป็นที่สุดด้วยความเป็นสัตว์ขี้ตกใจ ได้ยินเสียงสุนัขเห่าหรือฟ้าร้องก็ทำท่าเหมือนว่าจะหัวใจวายตายเอาง่าย ๆ และคงสงสัยอยู่ครามครันว่ากระต่ายตัวน้อย ๆ อย่างนี้จะเป็นศัตรูพืชได้อย่างไร?
กระต่ายเป็นศัตรูพืชได้จริง ๆ และขณะที่กำลังเขียนเรื่องนี้อยู่กระต่ายก็ยังเป็นศัตรูพืชที่สำคัญอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย แต่ละปีสร้างความเสียหายให้แก่การเกษตรและสิ่งแวดล้อมออสเตรเลียคิดเป็นมูลค่ามหาศาล และถึงแม้รัฐบาลและเกษตรกรของออสเตรเลียในทุกระดับจะได้ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มที่ในการกำจัดกระต่ายให้หมดไปจากออสเตรเลีย แต่ก็หาสำเร็จไม่
กระต่ายศัตรูพืชของออสเตรเลียแน่นอนที่สุดไม่ใช่กระต่ายบ้านสีขาวตาแดงแต่เป็นกระต่ายป่าสีเทาที่ว่องไวปราดเปรียว กินง่าย อยู่ง่าย หรืออีกนัยหนึ่งกินพืชได้สารพัดชนิด ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีและยังคงคุณสมบัติที่สำคัญโดดเด่นประการหนึ่งของกระต่ายไว้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์คือ “มีลูกดกมาก” กระต่ายเหล่านี้มิใช่สัตว์พื้นเมืองของออสเตรเลีย แต่เป็นกระต่ายที่ผู้อพยพนำเข้ามาจากประเทศอังกฤษเมื่อประมาณสองร้อยปีมาแล้ว เพราะสมัยที่ทวีปออสเตรเลียแยกตัวออกมาจากแผ่นดินใหญ่เมื่อหลายสิบล้านปีก่อนนั้นไม่มีบรรพบุรุษของกระต่ายติดมาด้วย สัตว์พื้นเมืองของออสเตรเลียที่วิวัฒนาการมาพร้อมกับทวีปออสเตรเลียส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์มีกระเป๋าหน้า (marsupial) เช่น จิงโจ้ชนิดต่าง ๆ เป็นต้นว่า kangkaroo และ wallaby หรือสัตว์ที่เคลื่อนไหวเชื่องช้าอย่างเช่น wombat, bilby หมีโคอาล่า เป็นต้น
กระต่ายป่าที่นำเข้ามาจากอังกฤษนี้ถ้าพิจารณาอย่างผิวเผินก็ดูโก้ดี ถ้าเป็นสินค้าก็เหมือนกับเป็นของนอก แต่ถ้าทราบข้อเท็จจริงในวัตถุประสงค์ของการนำเข้าแล้วก็คงจะคิดไปอีกทางหนึ่ง โดยกระต่ายต้นตระกูลที่ชาวอังกฤษอพยพเข้ามาตั้งรกรากได้นำเข้ามามีวัตถุประสงค์เพื่อความบันเทิงในการไล่ล่าเพื่อให้มีบรรยากาศเหมือนกับสมัยที่อยู่ในประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีสัตว์อีกอย่างน้อย 2 ชนิดที่ชาวอังกฤษได้นำเข้ามาเพื่อความบันเทิงคล้าย ๆ กันนี้ก็คือสุนัขจิ้งจอกที่นำเข้ามาสำหรับการไล่ล่าและปลาคาร์พซึ่งนำเข้ามาเพื่อเป็นปลาตกเล่น ซึ่งสัตว์ทั้ง 2 ชนิดรวมทั้งสัตว์อื่น ๆ อีกหลายชนิดที่นำเข้ามาโดยผู้อพยพชาวอังกฤษและชนชาติอื่น ๆ ในระยะต่อมาต่างก็สร้างความเสียหายให้กับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียในปริมาณและรูปแบบที่ต่างกันไปแทบจะไม่มีข้อยกเว้น
กระต่ายป่าที่ต้นตระกูลชาวออสเตรเลียผิวขาวนำเข้ามาเพื่อการไล่ล่าเพื่อความบันเทิงนี้ได้แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ตามหลักฐานที่ปรากฏ การนำเข้ากระต่ายครั้งแรกนั้นจำกัดอยู่เฉพาะเกาะทัสมาเนียและได้ขยายพันธุ์มีจำนวนอยู่แค่หลักหมื่น แต่ต่อมาได้มีการนำเข้ามาอีกที่รัฐวิคตอเรีย (นครเมลเบิร์น) เมื่อราวปี พ.ศ. 2412 จำนวนทั้งสิ้น 24 ตัว กระต่ายจำนวนนี้ใช้เวลาเพียง 50 ปีในการขยายพันธุ์แพร่ประชากรไปจนทั่วทวีปออสเตรเลียซึ่งมีพื้นที่ขนาดใกล้เคียงกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มและแพร่กระจายประชากรของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่รวดเร็วที่สุดเท่าที่มีการศึกษาไว้ ประมาณว่าเมื่อปี 2492 มีประชากรกระต่ายอยู่ในออสเตรเลียประมาณ 600 ล้านตัว ขณะที่ประชากรคนออสเตรเลียมีอยู่เพียงไม่ถึง 20 ล้านคน
กระต่ายเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพราะในออสเตรเลียไม่มีศัตรูในธรรมชาติที่คอยควบคุมประชากรกระต่ายให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือที่เรียกกันว่าการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพ สัตว์กินเนื้อของออสเตรเลียที่เป็นสัตว์พื้นเมืองแท้ ๆ ที่เราท่านรู้จักกันดีก็เห็นอยู่เพียงชนิดเดียวคือจระเข้ชนิดต่าง ๆ ซึ่งก็คงไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะไล่ขม้ำกระต่ายป่าเหล่านี้ได้ ประชากรของกระต่ายเพิ่มขึ้นชนิดที่เรียกได้ว่าเต็มตามความขีดความสามารถในการขยายพันธุ์ ยกเว้นเสียแต่ในปีที่แล้งจัดที่พืชอาหารของกระต่ายลดจำนวนลง ก็อาจส่งผลถึงประชากรกระต่ายอยู่บ้าง แต่โดยภาพรวมแล้วการเพิ่มประชากรของกระต่ายเป็นไปในลักษณะเกือบจะไร้ขีดจำกัด ในลักษณะที่ว่าสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อทั้งการเกษตรและระบบนิเวศน์ของออสเตรเลีย
ไม่น่าเชื่อว่ามีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่เกษตรกรต้องลงทุนสร้างรั้วลวดตาข่ายรอบ ๆ ทุ่งหญ้ายาวเป็นพันกิโลเมตรเพื่อป้องกันมิให้กระต่ายเข้ามาแย่งหญ้าวัวกิน นอกจากจะกินหญ้าแล้วกระต่ายก็ยังกินพวกต้นกล้าไม้ในป่าและพรรณไม้พื้นเมืองในเขตกึ่งแล้งจนเหี้ยนเตียน ทำให้ป่าไม่มีกล้าไม้มากพอที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการคงสภาพป่าไว้ และพรรณไม้พื้นเมืองกว่า 50 ชนิดแทบจะสูญพันธุ์ไปจากทวีปออสเตรเลีย แต่เรื่องตลกที่เล่าขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ “เมื่อราว 30 ปีที่แล้ว ทางการได้มีโครงการปลูกป่าเพื่อทดแทนการทำลายของกระต่าย โดยนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้เปิดโครงการโดยปลูกกล้าไม้ 3 ต้น แต่ปรากฏว่าต้นกล้าไม้ที่มีการระแวดระวังดูแลเป็นอย่างดีเพราะปลูกโดยนายกรัฐมนตรี กลับถูกกระต่ายรับประทานไปจนหมดสิ้นภายในเวลาไม่นาน”
เนื่องจากเป็นปัญหาร้ายแรง ทางการออสเตรเลียจึงได้เร่งระดมกำลังคนและกำลังทรัพย์จากหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหากระต่ายตั้งแต่หลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมา โดยมีเป้าหมายที่จะพยายามลดประชากรของกระต่ายให้น้อยลงจนไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ และได้คิดค้นวิธีการต่าง ๆ มาจัดการกับปัญหากระต่าย เท่าที่นับได้มีอยู่ถึง 15 วิธีด้วยกัน ทั้งวิธีทางกายภาพ เช่น ขุดทำลายรัง ยิง ล่า ดัก วิธีทางเคมี เช่น วางยาพิษ รมยาพิษ รวมถึงวิธีอื่น ๆ เช่น ใช้เสียงรบกวน ปล่อยสุนัขจิ้งจอก และวิธีสุดท้ายคือวิธีการควบคุมทางชีวภาพโดยเอาเชื้อโรคระบาดของกระต่ายจากต่างประเทศมาปล่อย และเร่งการระบาดโดยการเลี้ยงเพิ่มจำนวนพาหะของโรค เช่น หมัดและไรแล้วนำพาหะเหล่านี้ไปปล่อยในธรรมชาติ เท่าที่ผ่านมาการใช้เชื้อโรคดูเหมือนจะได้ผลดีที่สุด โดยครั้งแรกเมื่อราวปี พ.ศ. 2493 ทางการได้ปล่อยเชื้อไวรัสนำเข้าจากบราซิลที่ทำให้เกิดโรค myxomytosis ซึ่งเป็นโรคที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดของกระต่าย มีอัตราการฆ่าสูงถึงกว่า 90% โรคนี้ได้ทำให้กระต่ายป่าตายถึงกว่า 500 ล้านตัวในคราวนั้น และทำให้เกิดความหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหากระต่ายศัตรูพืชได้
แต่เพียงในเวลาไม่ช้าไม่นาน อัตราการตายของกระต่ายจากโรคนี้ก็ค่อย ๆ ลดลงจนเหลือเพียงราว 25% เท่านั้น และประชากรกระต่ายก็กลับมามีจำนวนมากเหมือนเดิมอีก ซึ่งทางการของออสเตรเลียก็ได้พยายามหาโรคชนิดใหม่มากำจัดกระต่ายอีก โดยในปี 2539 ทางการออสเตรเลียได้ปล่อยเชื้อ calcivirus ที่นำเข้าจากประเทศจีน เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคอวัยวะภายในตกเลือด หรือที่เรียกเป็นทางการว่า rabbit haemorrhagic disease และทำให้กระต่ายตายลงอีกเป็นจำนวนมาก แต่อัตราการแพร่ระบาดของโรคชนิดหลังนี้ไม่รวดเร็วเหมือนโรคชนิดแรก เพราะโรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสเท่านั้น แต่ในความพยายามที่จะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายเป็นบริเวณกว้าง ทางการออสเตรเลียจึงจับกระต่ายจำนวนมากมาปลูกเชื้อ เมื่อเป็นโรคแล้วจึงปล่อยคืนเข้าสู่ธรรมชาติเพื่อให้เกิดการติดเชื้อในกระต่ายตัวอื่น ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าความพยายามครั้งหลังนี้จะช่วยให้ออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการจัดการกับกระต่ายป่าอยู่บ้างเพราะมีรายงานว่าประชากรกระต่ายเริ่มลดลงอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคทั้งสองชนิดร่วมกับการดำเนินมาตรการกำจัดกระต่ายด้วยวิธีการสารพัดดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หลักฐานสนับสนุนความสำเร็จในการกำจัดกระต่ายที่สำคัญคือ เริ่มมีรายงานว่ามีการสำรวจพบพืชพื้นเมืองบางชนิดที่แต่เดิมคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วในบางพื้นที่ของออสเตรเลีย
สัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์พื้นเมืองดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าดังเช่น กระต่ายป่าจากยุโรป (มีโครโมโซมน้อยกว่ากระต่ายบ้าน 1 คู่) หรือสัตว์เลี้ยงที่หลุดออกไปอยู่อาศัยในป่าซึ่งมีอยู่หลายชนิดในออสเตรเลีย เช่น ควาย แพะ อูฐ สุนัขจิ้งจอก สุนัขดิงโก สุกร ม้า แมว ฯลฯ มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า Feral animal เช่น feral rabbit, feral buffalo, feral goat, feral fox เป็นต้น สัตว์เหล่านี้บางชนิด เช่น อูฐ มีจำนวนประชากรไม่มากนักอยู่ในหลัก 2 - 3 หมื่นตัว แต่บางชนิด เช่น สุกร แพะ และสุนัขจิ้งจอกนั้นมีประชากรสูงถึงหลักล้านตัว โดยสัตว์เหล่านี้ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น ล้วนแต่สร้างความเสียหายให้กับการเกษตรและระบบนิเวศน์ของออสเตรเลียอย่างมหาศาลทั้งสิ้น สุนัขดิงโกที่ผู้อพยพรุ่นแรกชาวอบอริจินนำเข้ามาเมื่อประมาณ 20,000 ปีที่แล้ว เป็นต้นเหตุให้สัตว์พื้นเมืองหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ไปจากออสเตรเลีย หรือแมวที่หลุดออกไปขยายพันธุ์ในธรรมชาติก็ทำให้ประชากรนกพื้นเมืองนานาชนิดลดลง หรือควายที่นำโรคติดต่อร้ายแรงมาสู่ปศุสัตว์ของออสเตรเลีย ฯลฯ ถึงแม้ในระยะหลังนี้ทางการออสเตรเลียได้พัฒนาวิธีการจัดการกับปัญหาของสัตว์เหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น พยายามใช้ประโยชน์จากสัตว์บางชนิด เช่นในกรณีของอูฐ ได้มีการส่งเสริมการเลี้ยงอูฐและทำไอศกรีมจากนมอูฐเพื่อส่งไปขายในกลุ่มประเทศอาหรับ หรือกรณีของแพะและสุกร ได้มีการส่งเสริมให้มีการล่าเพื่อนำเนื้อมาจำหน่าย ฯลฯ แต่ทางการออสเตรเลียก็ยังเข้มงวดเป็นอย่างยิ่งต่อการอนุญาตให้นำเข้าสัตว์ทุกชนิดเพราะมีบทเรียนเลวร้ายจากอดีตหลายบทด้วยกัน
ส่วนประเทศไทยก็มีประสบการณ์เลวร้ายจากสัตว์นำเข้าหลายชนิดเช่นเดียวกัน ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นกันชัดเจนคือหอยเชอรี่ที่ระบาดและทำความเสียหายไปทั่วประเทศ และปลาหมอคางดำที่มีรายงานว่าระบาดไปแล้วกว่า 16 จังหวัด และกำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ ยังไม่นับถึงการนำเข้าสัตว์อื่น ๆ อีกจำนวนมาก โดยต้นเหตุของปัญหาของประเทศไทยนอกจากประชาชนทั่วไปขาดความรู้ความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเข้าสิ่งที่มีชีวิตจากต่างถิ่นแล้ว ยังอยู่ที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องที่แม้จะมีอยู่หลายฉบับแต่กลับไม่ทันสมัย ครอบคลุมไม่ทั่วถึง และยังย่อหย่อนในการบังคับใช้ ทำให้เกิดคำถามว่าหากปัญหาเกิดแล้วจะแก้ไขกันอย่างไร? แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ทำอย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นซ้ำอีกในอนาคต
ที่มา : มกอช.