TH EN
A A A

ผักกูดพืชป่าที่เป็นอาหารได้

3 เมษายน 2567    ครั้ง

       ผักกูดพืชป่าที่เป็นอาหารได้

ประจำเดือนเมษายน 2567 

                    “ผักกูด” ไม่ใช่พืชตระกูล พืชผักทั่วไป แต่เป็นตระกูลเฟิร์น(Fern) หรือเฟิน มีชื่อเรียกอื่นอื่นๆ หลายชื่อ เช่น กูดกิน กูดครึ ผักกูดขาว หรืออาจเรียกตามชนิด เช่น กูดก๊อง กูดน้ำ กูดดอย กูดเครือ ผักกูดที่นิยมนำมารับประทานคือ กูดน้ำ ซึ่งจะขึ้นเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งมีน้ำชื้นแฉะ ตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่สะอาด ก้านใบจะยาว ได้ถึง 1 เมตร ยอดเป็นมันวาว เลื่อมแสง ใบสีเขียว เมื่อเด็ดยอด จะมียางเหนียวใส บริเวณโคนต้น มีขนสีขาวเทา ถ้าขนแก่มีสีน้ำตาล นอกจากนี้ยังมีผักกูดเกลี้ยง ผักกูดซาง ผักกูดขน ผักกูดแดง ผักกูดนกยูง มีหลายชนิดไม่ถือว่าเป็นผัก เรียก รวมๆ กันว่า “เฟิน” หรือ “เฟิร์น” ปลูกเป็นไม้ประดับสวนสวยงาม เช่นเฟินหางกระรอก เป็นใบมะขาม เป็นต้น 
                    ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักกูด จะมีความแตกต่างกันไปแต่ละชนิด ส่วนใหญ่เป็นไม้ล้มลุก ในช่วงแล้งต้นจะแห้ง ใบจะเฉาและแตกหน่อแตกใบใหม่ ในฤดูฝนต้นผักกูดเป็นไม้ที่ออกจากเหง้าโดยตรงอาจจะเป็นไม้เลื้อย ใบมีสีเขียว มีรูปร่างแตกต่างกัน ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ เฟินในประเทศไทยมีมากกว่าร้อยชนิด ชนิดที่กินได้เรียกกันว่า “ผักกูด” อย่างที่กล่าวมา มักพบบริเวณลำห้วย หนองน้ำ ลำธาร ต้นน้ำ ป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าผลัดใบผสมชะง่อนหินที่มีความชันสูงของป่าดิบชื้นก็มี เช่นที่ ภูพญาพ่อ อําเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ พบผักกูดดอยและเฟิร์นร้อยปี (เฟิร์นยักษ์) มีชาวบ้านหลายพื้นที่ มีอาชีพ เก็บผักกูดขาย บางแห่งรับจ้างเก็บส่งให้ พ่อค้าผักส่งออกไปต่างประเทศกันก็มี บางพื้นที่บางแหลงหาเก็บตามแหล่งธรรมชาติไม่พอขาย ก็หันมาปลูกเพาะ เป็นแปลงเกษตรใหญ่ รอเก็บจาก ธรรมชาติก็เก็บ 2 สัปดาห์ครั้ง ไม่พอ ต่อความต้องการของตลาด เมื่อปลูก เองก็ทำการดูแลรักษา หาวิธีการเพาะ ขยายเหมือนการดูแลผลิตผักเศรษฐกิจ อย่างไรอย่างนั้น การปลูกเริ่มตั้งแต่การไถเตรียมแปลง ใส่ปุ๋ยคอกรองหลุม หรือผสมดินทั้งแปลง ขุดหลุมปลูกระยะ 50x50 เซนติเมตร วางหัวไหล กลบโคน เมื่อตั้งตัวได้แล้ว ใส่ปุ๋ยยูเรียผสมปุ๋ย สูตร 15:15:15 อัตรา 75 กิโลกรัมต่อไร่ ให้น้ำวันละ 1 ครั้ง ต้นผักกูดที่ปลูก เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน จะเก็บเกี่ยว ผลผลิตได้แล้ว เก็บไปเรื่อย ๆ 3 วันเก็บยอดครั้ง เมื่อนานเข้า ผักกูดก็จะแก่ตัว ให้ผลผลิตลดลง ยอดจะเล็กลง โคนกอจะยกสูงขึ้น ก็ทำการล้มแปลงหรือล้มกอปลูกใหม่แทนที่ 
                    ผลผลิตผักกูด จะเก็บและนำมาขายเป็นมัดกำ กำหนึ่งหนักประมาณ 250 กรัม หรือ 4 กำต่อกิโล ขายกำละ 10 บาท แปลงปลูกปีแรกใหม่ ๆ จะได้ 800 กำต่อไร่ หรือแค่ 20 กิโลกรัม ปีต่อมาจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจถึง 3,500 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนการปลูก จะมากเกี่ยวกับปุ๋ยและค่าแรงเก็บเกี่ยว อาจจะศึกษาหาความรู้จากแหล่งปลูก เช่นที่จังหวัดพัทลุง ที่แก่งกระจาน จังหวัด เพชรบุรี หรือจะศึกษาเปรียบเทียบกับ แหล่งธรรมชาติที่ห้วยขาแข้ง จังหวัด 


สารพัดคุณประโยชน์ของผักกูด 
                   ช่วยเสริมสร้างบำรุงร่างกายให้แข็งแรง มีพลัง มีภูมิคุ้มกัน มีแร่ธาตุที่สำคัญเช่นธาตุเหล็กมีสูงมาก เมื่อกินร่วมกับเนื้อสัตว์จะช่วยให้ร่างกาย ดูดซึมธาตุอาหารได้ดี บำรุงโลหิต แก้โรค โลหิตจาง เป็นผักเย็นกินดับร้อนแก้ ไข้ตัวร้อน ช่วยบำรุงสายตา ลดระดับ คอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน มีเส้นใยอาหารสูงมาก ช่วยระบบการย่อยอาหาร และการขับถ่าย มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะและที่สำคัญ ผักกูดจะสามารถดูดซับเอาสารพิษที่ติดค้างในร่างกายในอาหาร และขับออกจากร่างกาย 
                   การนำผักกูดมากิน แนะนำว่า อย่ากินแบบสดๆ เพราะมีสารออกซาเลต จะทำให้เป็นนิ่วและไตอักเสบได้ ผักกูดเป็นพืชที่มีรสชาติจืดอมหวานและกรอบ นิยมนำเอายอดอ่อนที่มีลักษณะม้วนงอ และใบอ่อนมากินเป็นอาหาร โดยปรุงแต่งเป็นแกงจืด แกงเลียง แกงส้ม แกงกะทิใส่ปลาย่าง แกงรวมกับผักอื่น ๆ หรือ จะใช้เป็นผักต้มจิ้มน้ำพริกต่าง ๆ หรือ ปรุงเป็นยำผัก ไข่เจียวผักกูด ผัดผักกูด ใส่แหนม ผักกูดฤดูแล้งจะกรอบอร่อย กว่าฤดูอื่น 

 

อ้างอิงข้อมูล : ศูนย์วิทยบริการเพื่อส่งเสริมการเกษตร (สาระเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์)