TH EN
A A A

สหภาพยุโรปเพิ่มความเข้มงวดเรื่องน้ำมันแร่ปนเปื้อนในอาหาร

1 เมษายน 2567    ครั้ง

                    “น้ำมันแร่” เป็นชื่อรวมที่ใช้เรียกผลิตภัณฑ์กลุ่มหนึ่งที่ได้มาจากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมซึ่งประกอบไปด้วยสารเคมีมากมายหลายชนิด ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดรวมถึงโครงสร้างและองค์ประกอบทางเคมี โดยน้ำมันแร่ชนิดหนักอาจนำไปใช้ในการทำผลิตภัณฑ์หล่อลื่นชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำมันเครื่องยนต์ จาระบี ฯลฯ และน้ำมันแร่บางชนิดสามารถนำมาผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์มากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ และเครื่องสำอาง
                    ปัจจุบัน ปัญหาการปนเปื้อนของน้ำมันแร่ (mineral oil) ในอาหารและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค กำลังเป็นประเด็นที่สหภาพยุโรปให้ความสนใจเป็นอย่างมากในขณะนี้ โดยการปนเปื้อนนั้นมีแหล่งกำเนิดใหญ่ ๆ มาจากบรรจุภัณฑ์ (packaging) วัตถุเจือปนอาหาร (food additive) สารช่วยในกระบวนการผลิต (processing aid) และสารหล่อลื่น (lubricant)
                    สหภาพยุโรป ได้ให้ความสนใจกับประเด็นการปนเปื้อนของน้ำมันแร่ในอาหารและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยหน่วยงานประเมินความปลอดภัยอาหารของสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority: EFSA) ได้เริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2555 และได้สรุปผลการศึกษาในครั้งนั้นว่า มีแนวโน้มที่น้ำมันแร่กลุ่มต่าง ๆ จะส่งผลกระทบต่อประชากรมีความแตกต่างกันค่อนข้างกว้างขวาง โดยน้ำมันแร่กลุ่มที่ประกอบด้วยไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัว (Mineral Oil Saturated Hydrocarbon: MOSH) ที่ประชากรได้รับผ่านทางอาหาร ถือเป็นกลุ่มน้ำมันแร่กลุ่มที่น่ากังวล เนื่องจากสามารถสะสมในอวัยวะต่าง ๆ และก่อให้เกิดผลเสียต่อตับได้ ส่วนน้ำมันแร่กลุ่มที่ประกอบด้วยแอโรมาติคไฮโดรคาร์บอน (Mineral Oil Aromatic Hydrocarbon: MOAH) นั้นก็อาจเป็นสารที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมและเป็นสารก่อมะเร็ง (mutagenic and carcinogenic) ได้ ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงควรทบทวนระดับการบริโภคต่อวันของน้ำมันแร่ชนิดที่ประกอบด้วยไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัว (MOSH) และหาวิธีการจัดการกับน้ำมันแร่ชนิดที่ประกอบด้วยแอโรมาติคไฮโดรคาร์บอน (MOAH)
                    ต่อมาในปี 2558 องค์กรพัฒนาเอกชน Food Watch ได้รายงานผลการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการของผลิตภัณฑ์ 120 ชนิดที่มีจำหน่ายในตลาดของประเทศฝรั่งเศส เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ว่า มีการพบการปนเปื้อนของ MOSH กว่า 80% และพบการปนเปื้อนของ MOAH ถึง 43% โดยสาเหตุของการปนเปื้อนของน้ำมันแร่ส่วนใหญ่เกิดจากการเคลื่อนย้าย (migrate) ของน้ำมันแร่จากบรรจุภัณฑ์เข้าไปสู่อาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล ซึ่งมีการปนเปื้อนน้ำมันแร่จากกระบวนการรีไซเคิล และ Food Watch มีความเห็นว่า ไม่ควรมีการปนเปื้อนของน้ำมันแร่ในอาหารโดยสิ้นเชิง
                    จากผลจากการรายงานของ EFSA และ Food Watch ทำให้ในปี 2560 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ต้องออกคำแนะนำ (Recommendations) เพื่อให้ประเทศสมาชิกทำการเก็บรวบรวมข้อมูลการปนเปื้อนของน้ำมันแร่ในอาหารในปี 2560 และ 2561 โดยอาหารที่แนะนำให้เก็บรวบรวมข้อมูลการปนเปื้อนของน้ำมันแร่ประกอบด้วย ไขมันจากสัตว์ ขนมปัง ภาชนะทำขนม ธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารเช้า (breakfast cereals) ขนมหวานชนิดต่าง ๆ รวมถึงช็อกโกแลต เนื้อปลา ผลิตภัณฑ์จากปลารวมถึงปลากระป๋อง เมล็ดธัญพืช (grains) ชนิดต่าง ๆ เมล็ดพืชน้ำมัน พาสต้า ถั่วชนิดต่าง ๆ ไส้กรอก นัทยืนต้น (tree nut) น้ำมันพืช และวัสดุสัมผัสอาหาร (Food Contact Material) ที่ใช้กับอาหารที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมารวมกันเป็นข้อมูลหลักเพื่อให้ EFSA ใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงต่อไป
                    ในกรณีที่ตรวจพบการปนเปื้อนของน้ำมันแร่ในอาหาร ประเทศสมาชิกต้องสืบสวนเพิ่มเติมถึงแหล่งกำเนิดของการปนเปื้อนนั้น รวมถึงระบบการผลิตที่อาจส่งผลถึงการควบคุมหรือการป้องกันมิให้เกิดการปนเปื้อน เช่น HACCP และในกรณีที่ตรวจพบการปนเปื้อนของน้ำมันแร่ในวัสดุสัมผัสอาหารหรือมาจากวัสดุสัมผัสอาหาร ให้ประเทศสมาชิกสืบสวนในเชิงลึกและเก็บรวบรวมข้อมูลโดยละเอียด เช่น ประเภทและองค์ประกอบของวัสดุสัมผัสอาหาร มีชั้นรองเพื่อป้องกันการซึมผ่านหรือไม่ อายุวางจำหน่าย ตลอดจนสืบสวนถึงผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้จำหน่ายว่าปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับ GMP หรือไม่
                    ในปี 2565 กรรมาธิการยุโรปด้านสุขภาพและความปลอดภัยอาหาร (DG SANTE) โดยคณะกรรมการด้านพืช สัตว์ และอาหารสัตว์ (SC PAFF) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับอันตรายและการควบคุมการปนเปื้อนของ MOAH ในอาหารมีความตอนหนึ่งว่า “ถ้ามีการตรวจพบ MOAH ซึ่งเป็นอาจจะเป็นสารที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมและก่อมะเร็ง ในอาหารรวมถึงอาหารสำหรับทารก ให้ดึงสินค้านั้นออกจากตลาดและถ้าจำเป็นให้เรียกคืนสินค้าทั้งหมดจากท้องตลาด” และเพื่อให้มีการปฏิบัติที่ไม่แตกต่างกันในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป คณะกรรมการจึงได้ตั้งเกณฑ์ค่ารวมของ MOAH ในการเรียกคืนอาหารไว้ดังต่อไปนี้
                    •  0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สำหรับอาหารแห้งที่มีไขมัน/น้ำมันเป็นส่วนประกอบน้อย (≤4% ไขมัน/น้ำมัน)
                    •  1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สำหรับอาหารที่มีไขมัน/น้ำมันเป็นส่วนประกอบมาก (≤4 - 50% ไขมัน/น้ำมัน)
                    •  2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สำหรับไขมัน/น้ำมัน หรืออาหารที่มีไขมัน/น้ำมันเป็นส่วนประกอบมากกว่า 50%
                    ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอาหารที่ต้องใช้ไขมัน/น้ำมันเป็นส่วนประกอบ ผู้ที่ใช้ไขมัน/น้ำมันในกระบวนการผลิตอาหาร และผู้ผลิตและผู้จำหน่ายน้ำมันพืชหรือไขมัน/น้ำมันจากสัตว์ รวมไปถึงผู้ผลิตและผู้จำหน่ายบรรจุภัณฑ์และวัสดุสัมผัสอาหาร อาหารหลายชนิดทั้งที่ผลิตภายในสหภาพยุโรปและที่นำเข้าได้ถูกเรียกคืนไปเรียบร้อยแล้วสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้มาตรการนี้
                    ทั้งนี้ กรรมาธิการยุโรปยังมิได้ออกเป็นกฎหมายออกมาควบคุมน้ำมันแร่ในอาหารโดยเฉพาะ เนื่องจากต้องรอผลการศึกษาประเมินความเสี่ยงที่สมบูรณ์จากหน่วยงานประเมินความปลอดภัยอาหารของสหภาพยุโรป (EFSA) ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในเร็ว ๆ นี้ และเมื่อถึงเวลานั้นคาดว่าการบังคับใช้จะเข้มงวดและกว้างขวางยิ่งขึ้น ผลกระทบก็จะกว้างขวางและรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้ผลิตที่ไม่สามารถผลิตได้ตามเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
                    ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารไปยังสหภาพยุโรปของไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมการและปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขใหม่ที่ทางสหภาพยุโรปจะกำหนดขึ้นให้ได้ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปค่อนข้างเข้มงวดกับเกณฑ์ความปลอดภัยอาหารและถือว่าเป็นเรื่องที่เจรจาต่อรองไม่ได้ (non-negotiable) 

 

ที่มา: มกอช.