เคล็ดลับการปลูกผักเหลียง ราชินีผักพื้นบ้านคุณค่าทางโภชนาการสูง
ประจำเดือนตุลาคม 2566
ผักเหลียงถูกขนานนามให้เป็น "ราชินีผักพื้นบ้าน" เนื่องจากเป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใบมีสีเขียวสด ปลูกง่าย หาซื้อได้ง่าย สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ผัดผักเหลียงใส่ไข่ ผักเหลียงต้มกะทิ หรือแกงเลียงผักเหลียงใส่กุ้ง ฯลฯ
ผักเหลียงเป็นผักพื้นบ้าน พบมากในภาคใต้ของประเทศไทย แถบจังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ ภูเก็ต และพังงา เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 1-2 เมตร ปลูกเพียง 2 ปี ก็สามารถเก็บยอดของผักเหลียงมารับประทานหรือขายเป็นรายได้เสริมได้ ซึ่งการปลูกผักเหลียงก็ปลูกง่ายเหมือนกับการปลูกไม้ผลทั่วๆ ไป
เคล็ดลับการปลูกผักเหลียง
1. ขยายพันธุ์ผักเหลียงด้วยเมล็ด : นำเมล็ดผักเหลียงแก่มาแช่น้ำประมาณ 1 คืน แล้วนำไปเพาะในกระบะทรายหรือขี้เถ้าแกลบ รดน้ำเช้าเย็น เมื่อเมล็ดงอกมีใบ 2-3 คู่ จึงย้ายลงถุงเพาะชำเลี้ยงไว้ประมาณ 1 ปี จึงนำไปปลูกในแปลงได้
2. ขยายพันธุ์ผักเหลียงด้วยไหลราก : ผักเหลียงเมื่อต้นโตเต็มที่จะมีไหลราก คือรากแขนงที่อยู่ระดับผิวดินจะแตกเป็นต้นใหม่ สามารถขุดต้นแล้วนำมาลงถุงเลี้ยงไว้ประมาณ 6 เดือน จึงนำไปปลูกในแปลงได้
3. ขยายพันธุ์ผักเหลียงด้วยวิธีการตอนกิ่ง : เลือกตอนกิ่งผักเหลียงที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ตอนกิ่งประมาณ 2 เดือน เมื่อรากออกสมบูรณ์แล้ว ตัดลงชำถุงอีกประมาณ 2-3 เดือน ก็สามารถนำไปปลูกได้
4. การเตรียมแปลงปลูกผักเหลียง : ขุดหลุมปลูกกว้าง X ลึก ประมาณ 30 เซนติเมตร คลุกดินก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก
5. การปลูกผักเหลียง : ควรปลูกผักเหลียงในฤดูฝน เพราะผักเหลียงชอบความชื้น ปลูกผักเหลียงแซมในสวนยางพาราหรือไม้ผลที่โต มีร่มเงา ไม่ควรปลูกกลางแจ้ง
ผักเหลียงนอกจากปลูกง่ายแล้วยังมีประโยชน์มากมาย เป็นผักที่มีเบตาแคโรทีนสูงกว่าผักบุ้งจีนถึง 3 เท่าเลยที่เดียว และผักเหลียงยังมีเส้นใยอาหารสูง อุดมไปด้วยไฟเบอร์ ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันมะเร็ง และยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเส้นเลือดได้อีกด้วย ผักเหลียงมีประโยชน์มากมายสมกับเป็น "ราชินีผักพื้นบ้าน"
อ้างอิงข้อมูล : https://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=12070&s=tblplant