TH EN
A A A

EU เตรียมออกกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products)

25 มกราคม 2566    ครั้ง

EU เตรียมออกกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า
(Deforestation-free products)

               ป่าไม้ถือเป็นระบบนิเวศที่สำคัญที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกหลักในชั้นบรรยากาศ ดังนั้นปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าจึงสร้างผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกรวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
               จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในระหว่างปี 2533 ถึง 2563 พื้นที่ป่าขนาด 420 ล้านเฮกเตอร์ สูญเสียไปโดยมีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งหากเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันโลกสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นจำนวน 178 ล้านเฮกเตอร์ เท่ากับว่าในทุกๆนาที พื้นที่ป่าขนาดประมาณ 20 สนามฟุตบอลกำลังถูกทำลายอยู่ทั่วทุกมุมโลก การสูญเสียพื้นที่ป่าดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ตามรายงานของคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) วิเคราะห์ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ ส่วนใหญ่มาจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อตอบสนองความต้องการขยายพื้นที่เกษตรกรรมและปศุสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อแก้ไขและป้องกันการกระทำการต่างๆที่เป็นสาเหตุทำให้ป่าเสื่อมโทรม สหภาพยุโรปในฐานะที่เป็นตลาดรายใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกเพื่อการบริโภคจึงมุ่งแสวงหาข้อตกลงระดับชาติเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ในการเปลี่ยนแปลงนี้คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎระเบียบฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า “Deforestation-free products” หรือ “กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า” เพื่อควบคุมกลุ่มสินค้าที่มีส่วนในการทำลายป่าจำนวน 7 ประเภท ได้แก่ ยางพารา น้ำมันปาล์ม เนื้อวัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ผลิตจากสินค้าเหล่านี้ เช่น ช็อกโกแลต เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ถ่าน และสินค้าที่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น
               ร่างกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่ห้ามการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรปในอนาคต โดยสินค้าที่จะได้รับการอนุญาตให้จำหน่ายหรือส่งออกจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากระบบการตรวจสอบและประเมิน (Due diligence) เสียก่อนจะนำเข้าหรือส่งออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งหากพบว่าสินค้าชนิดใดมีที่มามาจากพื้นที่ที่มีการทำลายป่าหรือเป็นเหตุทำให้ป่าเสื่อมโทรมภายหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สินค้าชนิดนั้นก็จะถือว่าผิดตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ร่วมกันแล้วเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรากฎหมายและประกาศใช้บังคับ โดยคาดว่าร่างกฎหมายอาจมีผลบังคับใช้ภายในปี 2566 ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่จะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 18 เดือนและผู้ประกอบการรายย่อย 24 เดือน นับจากวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ
               การนำเข้าและส่งออกสินค้าจากสหภาพยุโรปตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products) นั้น กำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดครบ 3 ประการ คือ  1) ปลอดจากการทำลายป่า 2) ผลิตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเทศผู้ผลิต และ 3) ผู้ประกอบการหรือผู้ค้าจะต้องจัดทำ Due diligence ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ก่อนการวางจำหน่าย มิฉะนั้นผู้ค้าหรือผู้ประกอบการจะต้องรับผิดตามบทลงโทษที่กฎหมายกำหนดไว้หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม
               ระบบการตรวจสอบและประเมิน (Due diligence) คือ กระบวนการที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปจนถึงแหล่งกำเนิดสินค้าว่าเป็นสินค้าที่มาจากพื้นที่ที่มีการทำลายป่าหรือทำให้ป่าเสื่อมโทรมมาก่อนหรือไม่ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการ (operator) และผู้ค้า (trader) ต้องจัดทำข้อมูล รวมถึงแสดงเอกสารหลักฐานยืนยันพิสูจน์ว่าสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออกเป็นสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่า (deforestation-free products) โดยกระบวนการการทำ Due diligence แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน  กล่าวคือ 1) รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูล อาทิ รายละเอียดสินค้า ประเทศผู้ผลิต ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (geo-localization) เป็นต้น 2) ทำการประเมินระดับความเสี่ยงในสินค้าของประเทศคู่ค้าตามระดับของการทำลายป่าไม้และทำให้ป่าเสื่อมโทรมรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ และ 3) จัดการความเสี่ยง โดยจะต้องแสดงถึงแผนการจัดการการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ (Competent Authority) ของประเทศสมาชิกซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบสินค้าผ่านระบบ Due diligence นั้น
               สหภาพยุโรปจะจัดระดับความเสี่ยงของประเทศคู่ค้าในระบบ Due diligence ตามระดับของการทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม โดยอาศัยระบบการเทียบเคียง (benchmarking system) มาประเมินความเสี่ยงของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ประเทศคู่ค้าจะถูกจัดอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งจากสามประเภท ได้แก่ ระดับความเสี่ยงต่ำ มาตรฐาน และสูง การจัดระดับนี้จะเผยแพร่ภายใน 18 เดือนนับจากกฎหมายมีผลใช้บังคับ
               โดยระดับความเสี่ยงเหล่านี้เองจะเป็นตัวกำหนดมาตรฐานในการตรวจสอบและควบคุมสินค้านำเข้าหรือส่งออกโดยไม่มีการแบ่งแยกสินค้าที่ผลิตในยุโรปและสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในสภาพยุโรป กล่าวคือ แต่ละกลุ่มสินค้าของประเทศที่มีระดับความเสี่ยงต่ำและมาตรฐาน จะตรวจสอบอย่างน้อย 1% และ 3% ของจำนวนผู้ประกอบการตามลำดับ และสำหรับประเทศที่มีระดับความเสี่ยงสูงจะตรวจสอบอย่างน้อย 9% ของจำนวนผู้ประกอบการและ 9% ของปริมาณสินค้า
               หากพบว่าผู้ประกอบการหรือผู้ค้าไม่ปฏิบัติตาม หน่วยงานที่มีอำนาจอาจกำหนดบทลงโทษหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีสินค้าที่มีที่มามาจากพื้นที่ที่มีการทำลายป่าหรือมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้ป่าเสื่อมโทรมภายหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 อาทิเช่น กำหนดค่าปรับตามสัดส่วนของความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและมูลค่าของสินค้าที่เกี่ยวข้อง ยึดสินค้าและผลิตภัณฑ์ หรือยึดรายได้ที่เกิดจากการค้าสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้น เป็นต้น
               อย่างไรก็ตามแม้กฎหมายฉบับนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งมั่นที่จะลดการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าที่เชื่อมโยงกับการบริโภคและการผลิตสินค้าเพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน โดยคณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะปกป้องป่าอย่างน้อย 71,920 เฮกตาร์ต่อปี หรือประมาณ 100,000 สนามฟุตบอล และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก 31.9 ล้านเมตริกตันต่อปีก็ตาม แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธว่าในกระบวนการตรวจสอบและประเมินสินค้า (Due diligence) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่สำคัญของกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products) อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออกโดยเพิ่มภาระทางค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการและผู้ค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่มา : กลุ่มนโยบายระหว่างประเทศที่ 3  สรุปโดย : มกอช.
สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรป
    https://www.fas.usda.gov/data/european-union-european-institutions-finalize-deforestation-free-supply-chain-regulation
    https://www.tnnthailand.com/news/earth/134479/
    https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/qanda_21_5919