"FFC Thailand"
ก้าวสำคัญผลิตภัณฑ์สุขภาพไทย
ประจำเดือนตุลาคม 2565
ด้วยการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเเละกระเเสนิยมการดูเเลสุขภาพ ตลาดผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพ อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารฟังก์ชัน เเละโภชนภัณฑ์ (Nutraceuticals) ในประเทศไทยจึงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในฐานะประเทศที่มีจุดเเข็งทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพการผลิตสินค้าเกษตร เเละการต่อยอดภูมิปัญญา "อาหารฟังก์ชัน" หนึ่งในอาหารเเห่งอนาคต จึงกลายเป็นตัวเเปรสำคัญของการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรเเละอาหารไปสู่ธุรกิจมูลค่าสูง ภายใต้ความร่วมมือวิจัยเเละพัฒนาจากทั้งภาคการศึกษาเเละอุตสาหกรรม
เพื่อให้สามารถรองรับการขับเคลื่อนอาหารฟังก์ชันอย่างเป็นระบบเเละเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางหน่วยงานทั้งภาครัฐเเละเอกชนจึงร่วมเสนอเเนวทางจัดตั้งระบบ FFCC Thailand (Food with Function Claim) ขึ้น โดยมีเป้าหมายสนับสนุนการพัฒนากลไกยกระดับสินค้าเกษตรเเละอาหารจากวัตถุดิบที่มีคุณค่าไปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ขยายตลาดอาหารฟังก์ชันหรืออาหารเชิงสุขภาพของไทยเพื่อเปิดโอกาสตลาดโลกเเละสอดคล้องตามเเนวทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ BCG โดยข้อเสนอจัดตั้ง FFC Thailand ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการอาหารเเห่งชาติ (คกอช.) ที่เป็นกลไกร่วมปฏิบัติงานระหว่างกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์เเละกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา
จุดมุ่งหมายของ FFC Thailand ที่สำคัญ นอกจากการสนับสนุนกระบวนการวิจัยเเละพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมยังช่วยอำนวยความสะดวกภาคเอกชนทั้งการขออนุมัติคำกล่าวอ้างทางสุขภาพ มาตรฐานสุขภาพ หรือการรับรองซึ่งจะช่วยเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเเละความปลอดภัย ลดความสับสนจากฉลากหรือโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง โดยอ้างอิงกรณีศึกษาจากระบบ FFC ที่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรวิทยาศาสตร์ NARO ประเทศญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนเเนวทางพัฒนากระบวนการปฏิบัติของภาครัฐ
ระบบ FFC Thailand จะเป็นบริการออนไลน์เพื่อรองรับการกล่าวอ้างทางสุขภาพ ที่ครอบคลุมสินค้าเกษตรเเละอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เเละผลิตภัณฑ์สมุนไพร บนเงื่อนไขหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เเละงานวิจัยรองรับเเละเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องตั้งเเต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ พร้อมวางระบบสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาด ให้ผู้บริโภคสามารถสืบค้นเข้าถึงข้อมูลสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์เเละระบบในภาพรวม ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายส่งเสริมการศึกษา วิจัย เเละพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน เเละสารออกฤทธิ์ที่สามารถนำไปผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Functional Ingredients) เข้าสู่ตลาดผู้บริโภคไปพร้อมกับการสร้างความรู้ ความตระหนัก เเละกฎเกณฑ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานของผู้ประกอบการไทย
FFC Thailand เป็นประโยชน์ต่อใคร
FFC Thailand เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ตั้งเเต่เกษตรกรผู้ผลิต จนถึงผู้ประกอบการ ผู้บริโภค หน่วยงานของรัฐ เเละภาคการศึกษา โดยมีหน่วยงานที่สำคัญในการขับเคลื่อน อาทิ
►สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรเเละอาหารเเห่งชาติ (มกอช.) กำหนดมาตรฐานทั้งด้านคุณภาพเเละความปลอดภัย ตลอดจนศึกษาข้อมูลวิชาการ-วิทยาศาสตร์ เเละกำหนดนโยบายเเละแผนด้านการวิจัย รับรองระบบงานด้านคุณภาพเเละห้องปฎิบัติการ
►สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก. (ARDA) เป็นเเหล่งทุนสนับสนุนการวิจัยศักยภาพสินค้าเกษตรเเละผลิตภัณฑ์ที่สามารถพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์
►สำนักงานคณะกรรมการอาหารเเละยา (อย.) กำกับดูเเลเเละอนุญาตในการรับรอง FFC โดยร่วมกับเเหล่งทุนในการพัฒนาข้อมูลงานวิจัย หลักฐานวิทยาศาสตร์ เเละฐานข้อมูล Positive List เช่น สารออกฤทธิ์จากสมุนไพร เพื่อลดระยะเวลาเเละค่าใช้จ่ายในการพิจารณาอนุญาต เเละสร้างกลไกการให้คำปรึกษาต่อผู้ประกอบการเอกชน
►หน่วยบริหารเเละจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการเเข่งขันของประเทศ (บพช.) สร้างกลไกความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาเเละภาคเอกชน รวมถึงสนับสนุนทุนในการพัฒนาวิจัย
โดยคาดว่าเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้าร่วม FFC Thailand จะช่วยให้เกิดการสนับสนุนเเละผลักดันการมีส่วนร่วมตั้งเเต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการยกระดับประเทศไทยไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพที่เเข็งเเกร่งในระดับโลก
ที่มาข้อมูล : https://warning.acfs.go.th/th/e-magazine/?page=75#book/page13