TH EN
A A A

ทันโรค ทันโลก : โรคระบาด-อุบัติใหม่ที่สำคัญ

21 กันยายน 2565    ครั้ง

ทันโรค ทันโลก : 
โรคระบาด-อุบัติใหม่ที่สำคัญ

ประจำเดือนตุลาคม 2565

              โรคระบาดสัตว์ ก่อให้เกิดการสูญเสียผลผลิตในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลก รวมทั้งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสาธารณสุขในโรคที่ระบาดจากสัตว์สู่คน หลายชนิดเกิดการเเพร่ระบาดอย่างกว้างขวางเเละยาวนานกว่า 100 ปี โดยยังพบอุบัติการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ประกาศเป็น OIE-listed diseases จำนวน 117 รายการ

โรคระบาดสำคัญในปศุสัตว์เเละสัตว์น้ำทั่วโลก
ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง เเละเป็นที่สนใจของสาธารณชนในปัจจุบัน อาทิ

     • กลุ่มอาการตายด่วนในกุ้ง (Early Mortality Syndrome : EMS) พบการระบาดวงกว้างในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทั่วโลกเป็นครั้งเเรกในปี 2554 เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus ก่อให้เกิดกลุ่มอาการตับเเละตับอ่อนตายเฉียบพลัน ส่งผลให้ประเทศผู้เลี้ยงกุ้งทั่วโลกสูญเสียผลผลิตเป็นจำนวนมาก

     • กาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) เกิดจากเชื้อไวรัสิาร์เอ็นเอสายคู่กลุ่ม Reoviridae ซึ่งเป็นโรคร้ายเเรงที่ส่งผลกระทบต่อฟาร์มม้าและเเพร่ผ่านพาหะที่เป็นกลุ่มแมลงดูดเลือด

     • ไข้หวัดนก (Avian Influenza : AI) เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีโครงสร้างสำคัญคือ Hemaglutinin (H) และ Neuraminidase (N) จึงมีรหัสประจำตัวสายพันธ์ุตามโครงสร้าง H-N เช่น H5N1 ที่มีสายพันธุ์ก่อโรครุนเเรง (Highly Pathogenic) ที่สามารถติดต่อสู่คนได้ ปัจจุบันยังคงพบการติดต่อในหลายภูมิภาค ทั้งเอเชีย ยุโรป เเละอเมริกา อย่างต่อเนื่อง

     • ไข้หูดับ เกิดจากเชื้อเเบคทีเรียสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) พบครั้งเเรกเมื่อปี 2511 และติดต่อสู่มนุษย์จากการบริโภคชิ้นส่วนของสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือการสัมผัสสุกรที่ป่วย

     • นิวคาสเซิล(Newcastle disease) เกิดจากเชื้อที่สามารถติดต่อในสัตว์ปีกเเละเป็นอันตรายถึงชีวิตของปศุสัตว์ได้โดยไม่เเสดงอาการ พบครั้งเเรกในเมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2469

     • ปากเเละเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease : FM) เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสที่สามารถพบได้ในปศุสัตว์กีบคู่ ได้เเก่ โค สุกร แพะ แกะ ยกเว้นในม้าที่ไม่พบอุบัติการณ์ FMD ถือเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้าสินค้าปศุสัตว์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าโคเเละสุกรเป็นอย่างยิ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกให้เป็นเขตปลอดโรค FMD เพื่อส่งเสริมการผลิตเเละส่งออกสินค้าปศุสัตว์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

     • ลัมปีสกิน (Lumpy skin disease : LSD) เกิดจากเชื้อไวรัสที่สามารถเจริญเติบโตเเละก่อโรคตามอวัยวะต่างที่มีเซลล์เยื่อบุ (Epithelium cells) เดิมเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศเเถบแอฟริกา

     • วัวบ้า (Mad Cow Disease) หรือ Bovine Spongiform Encephalopathy (ฺBSE) เป็นโรคที่มีผลต่อสมองของโคเเละคน เกิดจากโปรตีนที่ผิดปกติในเนื้อเยื่อสมองที่เรียกว่าพรีออน (prion) พบครั้งเเรกในสหราชอาณาจักร เเละกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศผู้ส่งออกเนื้อโคทั่วโลก

     • อหิวาต์สุกรแอฟริกัน (African swine fever : ASF) เกิดจากเชื้อดีเอ็นเอไวรัสกลุ่ม Asfivirus ที่ติดเฉพาะในสัตว์ประเภทสุกร ที่พบประวัติการระบาดมากกว่า 100 ปี และยังก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมสุกรทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีอุตสาหกรรมสุกรหรือเป็นผู้บริโภคที่สำคัญ

     • Tilapia Lake Virus (TiLV) เกิดจากเชื้ออาร์เอ็นเอไวรัสกลุ่ม Orthomyxo-virus ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำสกุลปลานิล (Tilapia spp.) ซึ่งเป็นโรคใหม่ที่ OIE เผยเเพร่ Disease Card ครั้งเเรกในปี 2560

                 ปัจจุบันองค์การ OIE มีพันธกิจที่สำคัญในการสร้างความโปร่งใสเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดสัตว์ทั่วโลก(Transparency: Ensure transprency in the global animal disease situation) ซึ่งจะทำให้ประเทศสมาชิก OIE รวมทั้งประเทศไทย จำเป็นต้องรายงานหากตรวจพบโรคสัตว์โดยเฉพาะตามที่ระบุใน OIE Terrestrial and Aquatic Codes หรือ OIE-listed diseases ข้างต้น ที่มีการทบทวนอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้ประเทศสมาชิกอื่นๆทราบ เพื่อให่สามารถเตรียมมาตรการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคระบาดสัตว์สามารถส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะความเสี่ยงในการติดต่อสู่คน การตกค้าง หรือปนเปื้อนในสิ่งเเวดล้อม หรือผ่านสัตว์พาหะ ตลอดจนถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อาหาร อาหารสัตว์ ยาสัตว์ เเละการผลิตเพื่อจำหน่าย-ส่งออก ไปยังประเทศสมาชิก OIE

 

ที่มาข้อมูล : https://warning.acfs.go.th/th/e-magazine/?page=73#book/page10