ความรู้เรื่อง
"ถั่วฝักยาว"
ประจำเดือนกรกฎาคม 2565
ถั่วฝักยาว (Snake bean)
เป็นพืชล้มลุกปีเดียวที่นิยมปลูก และนิยมรับประทานมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีรสหวานกรอบ ใช้รับประทานเป็นผักสด ผักจิ้มน้ำพริก นอกจากนั้น ยังส่งจำหน่ายต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบตะวันออกกลาง และยุโรป เป็นพืชที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง พฤศจิกายน
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vigna unguiculata L. Walp.
• ชื่อสามัญ : Yard long bean / Snake bean / String bean / Asparagus bean / Bodie bean
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นถั่วฝักยาวมีลักษณะเลื้อยพัน ต้องการสิ่งค้ำจุน ลำต้นมีข้อปล้อง เป็นตายอดที่พัฒนาเป็นใบ และกิ่งก้าน มีมือเกี่ยวสำหรับเกี่ยวพันเพื่อยึดลำต้น มีลักษณะการเกี่ยวพันแบบทวนเข็มนาฬิกา ราก มีทั้งรากแก้ว และรากแขนง ในระดับที่ไม่ลึกมากนัก รากแขนงจะมีปมของแบคทีเรียไรโซเบียมที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศสะสมไว้สำหรับ ต้นถั่วนำไปใช้ประโยชน์
ใบ
ใบเป็นใบประกอบ แบบสามใบ เกิดสลับบนต้นหรือกิ่ง ใบจริงคู่แรกเกิดด้านบนใบเลี้ยง และใบที่เกิดต่อๆไป เป็นแบบใบประกอบ ใบมีขนาดเล็ก ค่อนข้างแหลมถึงกลมรี รูปร่างของใบเป็นรูปไข่หรือรูปหอก ใบมีสีเขียวถึงเขียวเข้ม ก้านใบยาว ที่โคนใบมีหูใบ 2 อัน
ดอก
ออกดอกเป็นช่อกระจะ แทงออกตามซอกมุมใบ แต่ละช่อมี 1-6 ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3 เซนติเมตร ด้านล่างดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียว ตัวดอกที่เป็นกลีบดอก ประกอบด้วยกลีบชั้นนอก เรียกว่า standards ทำหน้าที่ห่อหุ้มกลีบดอกชั้นใน และกลีบชั้นใน 2 กลีบ กลีบชั้นในกลีบแรก เรียกว่า wings และกลีบชั้นในสุด เรียกว่า keel มีลักษณะเป็นกรวย ทำหน้าที่ห่อหุ้มเกสรตัวเมีย และเกสรตัวผู้ ส่วนเกสร มีเกสรตัวผู้มี 10 อัน เกสรตัวผู้ 9 อัน ล้อมรอบรังไข่ ส่วนอีก 1 อัน อยู่ตัวแยกเป็นอิสระ ส่วนเกสรตัวเมียเป็นรังไข่ยาว สีเขียว มีก้านชูเกสร และยอดเกสรมีขนฟูสีขาว ดอกถั่วฝักยาวจะออกดอกโดยไม่ขึ้นกับช่วงแสง มีอายุการออกดอกแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ได้แก่
– พันธุ์เบา ดอกบาน 50% เมื่ออายุ 33-42 วัน
– พันธุ์ปานกลาง ดอกบาน 50% เมื่ออายุ 43-52 วัน
– พันธุ์หนัก ดอกบาน 50% เมื่ออายุ 53-60 วัน
ดอก ถั่วฝักยาวจะบานในช่วงเช้า และหุบในช่วงบ่ายในวันเดียวกัน และมีการผสมเกสรในวันที่ดอกบาน และหลังจากผสมเกสรแล้ว กลีบดอกจะร่วง และจะมีการพัฒนาของฝัก คุณภาพฝักสดที่ดีจะอยู่ในช่วง วันที่ 6-8 หลังดอกบาน มีรสกรอบ หวาน และมีสารอาหารสูง ฝักยาว 20-60 เซนติเมตร มีสีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม ปลายฝักมีสีเขียวหรือสีม่วง
ฝัก เเละ เมล็ด
ฝักมีลักษณะทรงกลม ผิวขรุขระ สีเขียว ยาวประมาณ 20-60 ซม. ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ มีร่องแบ่งสีเขียวเข้มตรงกลางผล 2 เส้น อยู่คนละฝั่งตลอดแนวความยาวผล ด้านในมีเมล็ดตลอดความยาวเป็นช่วงๆ เมล็ดมีรูปร่างคล้ายไต มีหลายสี เช่น สีขาว น้ำตาล ดำ และสีสลับน้ำตาล-ขาว, ดำ-ขาว และแดง-ขาว
► ประโยชน์ถั่วฝักยาว
• ฝักอ่อนใช้รับทานสดหรือรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก ผักรับประทานกับอาหารจำพวกลาบ น้ำตก ซุบหน่อไม้ เป็นต้น
• ฝักอ่อนใช้ประกอบอาหาร เช่น ตำถั่ว แกงเลียง ผัดถั่ว เป็นต้น
• ยอดอ่อนจากการเพาะเมล็ด นำมาประกอบอาหารจำพวกผัด ให้รสหวานกรอบ
• เมล็ดถั่วฝักยาวชนิดสีแดงหรือแดงเข้มนิยมนำมาทำของหวาน
• เมล็ดถั่วฝักยาวชนิดสีแดงหรือแดงเข้มใช้บดเป็นแป้งสำหรับผสมอาหารหรือทำขนมหวาน
• เมล็ด ยอด และลำต้นใช้เป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนสูง
ถั่วฝักยาวประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ ๆ หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ วิตามินบี ธาตุเหล็ก ซัลเฟอร์ ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม และที่สำคัญยังเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยวิตามินซี โฟเลต แมกนีเซียม และแมงกานีสอีกด้วย ซึ่งนับว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากเลยทีเดียว แต่ถึงแม้ถั่วฝักยาวจะมีประโยชน์มากมายอย่างไร แต่หากทานถั่วฝักยาวแบบสด ๆ ดิบ ๆ หรือทานมากไปก็อาจทำให้ท้องอืดได้ เพราะในถั่วฝักยาวดิบจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และมีเทนอยู่มาก ซึ่งแก๊สพวกนี้ทำให้เกิดกรดเกินในกระเพาะอาหาร จนมีอาการท้องอืด เป็นปัญหาในระบบย่อยอาหารได้
ที่มา : https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/ เเละ https://th.wikipedia.org เเละ https://medthai.com