ชัยชนะของไทยครั้งนี้ทำให้สหรัฐฯ ต้องยกเลิกหรือปรับมาตรการซี-บอนด์ให้สอดคล้องกับความตกลงดับเบิลยูทีโอเร็วที่สุด และเป็นการลดภาระค่าค้ำประกันผู้ส่งออกกุ้งไทยเป็นมูลค่า 2,550 ล้านบาท/ปี ซึ่งนับตั้งแต่สหรัฐฯ ใช้มาตรการซี-บอนด์กับไทยตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 5 ปี ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกกุ้งของไทยต้องมีภาระในส่วนนี้กว่า 12,000 ล้านบาท อีกทั้งสหรัฐฯ ต้องคำนวณอัตราอากรเอดีใหม่โดยไม่ใช่วิธีซีโร่อิ้ง ทำให้อัตราเอดีของผู้ส่งออกไทยหลายรายการลดลงหรือไม่ต้องเสียอากรเอดี ซึ่งสหรัฐฯ เรียกเก็บในอัตรา 5.29-6.82%
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 ดับเบิลยูทีโอได้ตั้งคณะกรรมการตัดสินพิจารณาข้อร้องเรียนของไทยกรณีสหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันการค้าต่อไทยดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยประสบปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียนการทำธุรกิจ และต้องเสียภาษีเอดีกุ้งสูงเกินจริง ต่อมาเมื่อต้นปี 2551 คณะกรรมการตัดสินให้ไทยชนะคดี ขณะที่สหรัฐฯได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน