เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 องค์การสหประชาชาติ (United Nation’s : UN) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาอาหารโลกซึ่งจัดทำขึ้นโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ว่าดัชนีราคาอาหารทั่วโลกลดลงในเดือนมกราคม เนื่องจากราคาน้ำตาลและน้ำมันพืชที่ลดลงอย่างรวดเร็ว
โดยดัชนีราคาอาหารโลกในเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 อยู่ที่ระดับ 124.9 จุด จาก 127.0 จุด ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 แม้ว่าค่าดัชนีจะลดลงทุกเดือน แต่ยังคงสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 6.2%
โดยราคาน้ำตาลลดลง 6.8% จากเดือนธันวาคม และ 18.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาการลดลงของราคานี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากแนวโน้มอุปทานน้ำตาลทั่วโลกที่ดีขึ้น และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในบราซิลและอินเดียทำให้การส่งออกน้ำตาลกลับมาเป็นปกติ
ในส่วนของน้ำมันพืช ราคาลดลง 5.6% เนื่องจากราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันแรพซีดทั่วโลกลดลง ขณะที่ราคาน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันดอกทานตะวันยังคงทรงตัว ถึงแม้ว่าดัชนีจะลดลงในเดือนมกราคม แต่ตัวเลขยังคงสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 24.9%
ด้านราคาธัญพืชมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้น 0.3% แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 6.9% ถึงแม้ว่าราคาส่งออกข้าวสาลีลดลง แต่ราคาข้าวโพดกลับสูงขึ้น เนื่องจากการคาดการณ์ผลผลิตและสินค้าคงคลังของสหรัฐฯ นอกจากนี้ดัชนีราคาข้าวลดลง 4.7% เนื่องจากการส่งออกที่เพียงพอ
ด้านผลิตภัณฑ์นมมีราคาเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบแบบเดือนต่อเดือน และ 20.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็นผลมาจากราคาชีสที่พุ่งสูงขึ้นทุกเดือน แซงหน้าราคาเนยและนมผงที่ลดลง ในขณะที่ดัชนีราคาเนื้อสัตว์ลดลง 1.7%
ตามรายงาน FAO ได้ปรับลดปริมาณคาดการณ์ธัญพืชทั่วโลกในปี พ.ศ. 2567 จาก 2.841 พันล้านตัน เหลือ 2.840 พันล้านตัน เนื่องจากการปรับลดปริมาณการผลิตข้าวโพดในสหรัฐฯ และคาดการณ์ว่าสินค้าคงคลังธัญพืชทั่วโลกลดลง 2.2% ในปี พ.ศ. 2568 ขณะที่การค้าธัญพืชระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2567/68 จะลดลง 5.6% จากปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 483.5 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด และข้าวสาลีของประเทศจีนลดลง
ทั้งนี้ FAO ระบุเพิ่มเติมว่าการปลูกข้าวสาลีฤดูหนาวในซีกโลกเหนือสิ้นสุดลงเดือนมกราคม โดยปริมาณการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นในฝรั่งเศส เยอรมณี และสหราชอาณาจักร ขณะที่รัสเซียมีการเพาะปลูกลดลงเนื่องจากปัญหาด้านสภาพอากาศ นอกจากนี้การเก็บเกี่ยวข้าวโพดในซีกโลกใต้ที่จะเริ่มขึ้นในไตรมาส 2 คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นในอาร์เจนตินาและบราซิล โดยราคาข้าวโพดที่สูงขึ้นได้ส่งผลให้มีการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นในแอฟริกาใต้ตามมาด้วย
ที่มา : Reuters สรุปโดย : มกอช.