เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2567 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ยืนยันพบผู้ป่วยเข้ารักษาด้วยอาการติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H5N1) อย่างรุนแรง ในรัฐลุยเซียนา (Louisiana) ซึ่งถือเป็นกรณีแรกในสหรัฐฯ ที่มีผู้ป่วยอาการรุนแรงจากไวรัสดังกล่าว นับตั้งแต่มีการรายงานผู้ติดเชื้อตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ซึ่งพบผู้ป่วยไข้หวัดนกชนิด H5 ไปแล้วทั้งหมด 61 ราย
จากข้อมูลทางพันธุกรรม (Genome) บางส่วนเชื้อ H5N1 ในผู้ป่วยรัฐ Louisiana สามารถระบุได้ว่า ไวรัสชนิดนี้มีลักษณะทางพันธุกรรมหรือลักษณะของยีน (Genotype) D1.1 ซึ่งแตกต่างจากแบบ B3.13 ที่ตรวจพบใน วัวนม มนุษย์ (จากการระบาดแบบไม่เฉพาะที่ -Sporadic) ในหลายรัฐ และสัตว์ปีกบางชนิดในสหรัฐฯ โดย Genotype D1.1 ที่พบเชื่อมโยงกับไวรัส D1.1 สายพันธุ์อื่น ที่มีการตรวจเจอเมื่อไม่นานมานี้ในนกป่าและสัตว์ปีกในสหรัฐฯ และในผู้ป่วยรายล่าสุดจากพื้นที่บริติชโคลัมเบีย (British Columbia) วอชิงตัน และแคนาดา โดย CDC กำลังดำเนินการตรวจลำดับเบสทั้งหมดของสารพันธุกรรม (Genome Sequencing) เพิ่มเติมและพยายามแยกไวรัสตัวอย่างจากผู้ป่วยรายนี้
การตรวจสอบแหล่งที่มาของเชื้อในกรณีล่าสุดระบุได้ว่าผู้ป่วยสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยตายซึ่งเลี้ยงไว้ในครัวเรือน นับว่าเป็นกรณีแรกที่มีการเชื่อมโยงกับการสัมผัสสัตว์ที่อาศัยอยู่ภายในบริเวณบ้าน โดยทาง CDC กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่มีการพบผู้ติดเชื้อรุนแรง เนื่องจากปี พ.ศ. 2567 และในปีก่อนๆ มีการรายงานผู้ติดเชื้อ H5N1 และผู้เสียชีวิตในประเทศอื่น ๆ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานการแพร่กระจายของไวรัสจากคนสู่คนจึงยังประเมินระดับความเสี่ยงของเชื้อ H5N1 ต่อสาธารณสุขที่อยู่ระดับต่ำ
นอกจากฟาร์มสัตว์ปีกและโคนมที่ได้รับผลกระทบ นกป่าและฝูงนกซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงในสวนหลังบ้านสามารถเป็นแหล่งที่มาของการระบาดได้เช่นกัน จึงแนะนำให้ผู้ที่มีการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ รวมถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยง นักล่า ควรปฏิบัติตามข้อควรระวังที่แนะนำโดย CDC เมื่ออยู่ใกล้สัตว์ที่ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงสูง
ทั้งนี้ วิธีการป้องกันไข้หวัดนกที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสใด ๆ ที่อาจมีความเสี่ยง เนื่องจากนกที่ติดเชื้อจะมีการแพร่กระจายไวรัสทางน้ำลาย เมือก และอุจจาระ นอกจากนี้ สัตว์ติดเชื้อชนิดอื่นอาจแพร่กระจายไวรัสได้ผ่านสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจและของเหลวในร่างกายอื่น ๆ เช่น น้ำนมดิบ และนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ เป็นต้น
ที่มา : CDC สรุปโดย : มกอช.