เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 กระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์ (MSE) ได้นำเสนอร่างกฎหมายความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร (Food Safety and Security Bill : FSSB) เข้าสู่การพิจารณาเป็นวาระแรกในรัฐสภา หลังร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 รวมถึงผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากสาธารณชนมาแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกันยายน พ.ศ. 2567 บนเว็บไซต์ REACH ของรัฐบาล ทั้งนี้ ในขั้นตอนถัดไป รัฐบาลจะยังคงมีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมต่อไป จนกว่าจะมีการนำกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ FSSB มาใช้
รายละเอียดที่สำคัญของกฎหมาย FSSB มีดังนี้
1. การรวบรวมและยกระดับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอาหารเดิมที่มีอยู่
o [รวบรวม/ปรับปรุง] รวบรวมข้อกำหนดเกี่ยวข้องกับอาหารที่คล้ายคลึงกันจากกฎหมายอื่น ๆ และปรับให้สอดคล้องกันเป็นกฎหมาย FSSB เพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดความชัดเจนและง่ายต่อการปฏิบัติของผู้นำเข้า
o [ปรับปรุง] ปัจจุบันธุรกิจอาหารและผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขก่อนการออกใบอนุญาต (pre-licensing requriments) ซึ่งกำหนดวิธีการเพื่อสร้างความมั่นใจว่าอาหาร/อาหารสัตว์นั้นปลอดภัยและเหมาะสม แต่กฎหมาย FSSB จะไม่กำหนดรายละเอียดในการดำเนินการ แต่จะกำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตรักษามาตรฐานการควบคุมอาหารและการควบคุมอาหารสัตว์ไว้
o [รวบรวม/ปรับปรุง] เพิ่มความยืดหยุ่นในเรื่องปริมาณการนำเข้าอาหารเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลโดยอนุญาตให้ผู้บริโภคสามารถเข้านำอาหาร “ในทุกหมวดหมู่” รวม 15 กิโลกรัม นอกจากนี้กฎหมาย FSSB จะไม่บังคับใช้ข้อจำกัดเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีข้อกำหนดด้านกฎระเบียบที่เข้มงวดกว่า เช่น เลือดสัตว์และเนื้อสัตว์ป่าจะยังคงถูกห้ามต่อไป
2. การยกระดับระบบความปลอดภัยทางอาหาร
o [ใหม่] ขยายขอบเขตของกฎหมายความปลอดภัยอาหารให้ครอบคลุมไปถึงการจัดหาอาหารซึ่งรวมถึงการบริจาคและแจกฟรี ไม่ใช่เพียงแค่การจำหน่ายอาหารเท่านั้น โดยจะมีข้อกำหนดในการรับรองความปลอดภัยของอาหารที่สอดคล้องกับความเสี่ยงในกิจกรรมนั้น ๆ สิ่งนี้จะทำให้การเข้าถึงอาหารมีความปลอดภัยมากขึ้น
o [ใหม่] กำหนดให้ศูนย์กระจายสินค้าเก็บบันทึกข้อมูลเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับและการเรียกคืนสินค้า เพื่อให้สามารถกำจัดอาหาร ผลิตภัณฑ์สัมผัสอาหาร และอาหารสัตว์ทีไม่ปลอดภัยออกจากตลาดได้ทันที รวมถึงลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ
o [ปรับปรุง] เพิ่มบทลงโทษสูงสุด และเสริมสร้างการกำกับดูแลความปลอดภัยให้เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันการไม่ปฏิบัติตามโดย;
- [ปรับปรุง] บทลงโทษจะแบ่งเป็นระดับตามความร้ายแรงและความผิด โดยบทลงโทษที่สูงขึ้นจะใช้กับ (ก) ผู้กระทำผิดซ้ำและนิติบุคคล (ข) ความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย อันตราย และการบาดเจ็บทางร่างกาย และ (ค) ความผิดที่กระทำโดยเจตนา
- [ใหม่] เฉพาะผู้ที่กระทำผิดหลายครั้ง ให้เพิกถอนใบอนุญาต และตัดสิทธิ์ในการถือใบอนุญาตใหม่ในประเภทเดียวกันภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการดำเนินธุรกิจอาหารซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน
o [ปรับปรุง] กระทรวงสาธารณสุขอาจกำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอาหาร โดยพิจารณาจากความเชื่อมโยงระหว่างอาหาร สุขภาพ รวมถึงโภชนาการ ทั้งนี้ FSSB จะชี้แจงกฎระเบียบที่อาจพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพ อาทิ กฎระเบียบในปัจจุบันอย่างการห้ามใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (PHO) ในอาหาร หรือการติดฉลาก Nutri - Grade กับเครื่องดื่มเกรด "C" และ "D"
3. ก้าวทันความท้าทายที่เกิดขึ้นในการปกป้องความมั่นคงด้านอาหาร
o [ปรับปรุง] เสนอข้อกำหนดการกักตุนขั้นต่ำ (Minimum Stockholding Requirement : MSR) เพื่อให้ MSE และ SFA สามารถบริหารโครงการกักตุนข้าว (RSS) ให้พร้อมสำหรับอนาคต เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นและความถี่ของการหยุดชะงักในอุปทานอาหาร ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถขยายโครงการกักตุนไปยังสินค้าอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและอาหารหากจำเป็นในอนาคต
o [ใหม่] กำหนดให้ฟาร์มในท้องถิ่นพัฒนาและดำเนินการตามแผนการจัดการฟาร์มเพื่อลดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของอาหาร รวมไปถึงการแพร่ระบาดของโรคและคุณภาพน้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าการผลิตอาหารจะเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน
สามารถศึกษาร่างกฎหมาย FSSB ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.parliament.gov.sg/docs/default-source/bills-introduced/food-safety-and-security-bill-49-202410500c06-cf20-4f7c-80e0-f6bb39002e9a.pdf?sfvrsn=b5585008_1
ที่มา : food.chemlinked , Singapore Food Agency สรุปโดย : มกอช.