สหภาพยุโรปเริ่มบังคับใช้กฎหมายฝาเครื่องดื่มแบบผูกติดกับขวด (Tethered caps) สำหรับเครื่องดื่มพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวความจุไม่เกิน 3 ลิตรที่วางจำหน่ายใน EU โดยฝาปิดจะต้องผูกติดกับภาชนะระหว่างเปิดใช้งานและจัดเก็บผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สะดวกต่อการรีไซเคิลไปพร้อมกับภาชนะ ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 3 กรกฎาคม 2567
กฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastics Directive: SUPD) ซึ่งถูกเสนอเมื่อปี 2561 และนำมาใช้ทั่ว EU ในปีถัดมา โดยมีเป้าหมายที่จะลดขยะจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ทำให้บริษัทหลายแห่ง เช่น Coca-Cola, Danone, Nestlé และ PepsiCo ออกมาคัดค้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องใช้เวลาและการลงทุนสูง แต่เมื่อปี 2566 บริษัท Coca-Cola ก็ออกมายอมรับว่าตนคิดผิดและได้เปิดตัวฝาขวดแบบผูกติดหนึ่งปีครึ่งก่อนการบังคับใช้ ในมุมมองของผู้บริโภค ฝาขวดแบบผูกติดได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริโภคบางรายผ่านทางโซเชียลมีเดีย ระบุว่า พวกเขาไม่พอใจกับการที่ฝาขวดไปโดนใบหน้าขณะดื่ม และสร้างความลำบากให้ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม เวลาจะช่วยให้ผู้บริโภคปรับตัวเข้ากับฝาขวดแบบใหม่ โดยฝาเครื่องดื่มแบบผูกติดได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากการแข่งขันฟุตบอลยูโรช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา เมื่อผู้เล่นดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่มีฝาติดอยู่ ทำให้ไม่มีฝาขวดที่เกลื่อนกลาดอยู่ข้างสนาม นอกจากนี้ ผลการศึกษาของบริษัท Coca-Cola พบว่า ผู้บริโภคสนับสนุนฝาขวดแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาตระหนักถึงความจำเป็นของการรีไซเคิล
เมื่อพิจารณาประเด็นด้านการออกแบบ คณะกรรมการยุโรปได้ขอให้หน่วยงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (CEN) จัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดการออกแบบฝาแบบผูกติด เพื่อให้มั่นใจว่ามีความแข็งแรง น่าเชื่อถือ และปลอดภัยในขณะที่ฝายังติดกับภาชนะ โดยคำนึงถึงการออกแบบเครื่องมือ น้ำหนักของฝาขวด และกระบวนการผลิตฝาขวด ทั้งนี้ ผู้ผลิต ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ และซัพพลายเออร์อุปกรณ์จะต้องร่วมมือกันเพื่อผลิตฝาให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฝาปิดแบบบานพับและฝาปิดแบบห่วงติด
ฝาเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในรายการขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่พบมากที่สุดบนชายหาดใน EU ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะช่วยลดขยะพลาสติกที่พบบนชายหาดของ EU ได้ 10% และสะดวกต่อการรีไซเคิลฝาขวดและภาชนะไปพร้อมกัน
ที่มา : Sustainable Plastic สรุปโดย : มกอช.