เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 รัฐบาลบราซิลได้ประกาศยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าข้าว 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือก (รหัส 100610.92) ข้าวกล้อง (รหัส 100620.20) และข้าวที่ผ่านการขัดสี (รหัส 100630.21) ให้เหลือ 0% เพื่อเติมสต็อกข้าวของประเทศ รวมถึงเป็นการป้องกันปัญหาด้านอุปทานที่จะเกิดขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในรัฐ Rio Grande do Sul (RGDS) โดยมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันทีนับแต่วันที่ประกาศจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 และอาจได้รับการพิจารณาขยายเวลาต่อไปขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
รัฐ Rio Grande do Sul เป็นรัฐที่มีชื่อเสียงด้านการเกษตรของประเทศ มีพื้นที่ผลิตข้าวกว่า 900,203 เฮกตาร์ หรือ 70% ของทั้งหมด คาดว่าความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งนี้อาจสูงถึง 100,000 ล้านเรียลถึง 200,000 ล้านเรียล นอกจากนี้ ผลจากน้ำท่วมยังทำให้ราคาข้าวในประเทศดีดตัวขึ้นถึง 10% ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลอย่างมากต่ออุปทานข้าวในประเทศ
เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น รัฐบาลบราซิลจึงออกกฤษฎีกา (MP 1.217/2024) โดยอนุญาตให้บริษัทอุปทานแห่งชาติ (CONAB) นำเข้าข้าว 1 ล้านตัน ซึ่งการซื้อข้าวเปลือกครั้งแรกจำนวน 104,000 ตันนั้นควรเกิดขึ้นผ่านการประมูลในกลุ่มประเทศ Mercosur แต่กลับถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการประกาศมาตรการยกเว้นภาษี เนื่องจาก พันธมิตร Mercosur ทำการปรับราคาธัญพืชขึ้นถึง 30%
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบราซิลยังคงให้ความมั่นใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่า บราซิลมีความสามารถในการผลิตข้าวที่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อุตสาหกรรมข้าวของบราซิลประกาศนำเข้าข้าวจากไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกประมาณ 750,000 ตัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเก็งกำไรและปัญหาด้านโลจิสติกส์ภายใน ซึ่งส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดข้าวของไทยกับบราซิลตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 15% แม้ว่าไทยจะไม่ใช่ตลาดข้าวหลักของบราซิลเนื่องจากมีระยะทางที่ไกลก็ตาม ทั้งนี้ บราซิลเคยหันมาอุดหนุนข้าวไทยเพื่อเพิ่มการนำเข้าอย่างเร่งด่วนในช่วงปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโควิด-19
ที่มา: GAIN สรุปโดย : มกอช.