TH EN
A A A

รัฐสภายุโรปลงมติไฟเขียวเทคนิคการดัดแปลงพืชทางพันธุศาสตร์ในสหภาพยุโรป

4 June 2567   

                    คณะกรรมาธิการยุโรปลงมติเห็นชอบร่างข้อเสนอกฎระเบียบของสหภาพยุโรปว่าด้วยพืชที่มีการใช้เทคนิคดัดแปลงพันธุศาสตร์ใหม่ (new genomic technique: NGTs) ภายใต้ยุทธศาสตร์ Farm to Fork และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่ออนุญาตให้พืชที่มีการใช้เทคนิคดัดแปลงพันธุศาสตร์ใหม่ไม่ต้องผ่านกระบวนการประเมินความเสี่ยงในแบบเดียวกับพืช GM ซึ่งมีความซับซ้อนและใช้เวลานาน 
                    พืชกลุ่ม NGTs เป็นพืชที่ได้รับการดัดแปลงยีน (GE) เพื่อให้เป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้งและศัตรูพืช ให้ปริมาณผลผลิตที่ดีกว่า ใช้ปุ๋ยและน้ำน้อยลง ซึ่งมีผลกระทบเชิงบวกในแง่ของความยั่งยืนทั้งต่อผู้ผลิต ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม โดยสมาพันธ์เกษตรกรอิตาลี (Coldiretti) ร่วมกับสมาพันธ์พันธุศาสตร์การเกษตรของอิตาลี (Siga) เห็นว่าจะเป็นแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่รุนแรงซึ่งสร้างความเสียหายต่อภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก 
                    ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้แยกพืช NGTs ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) พืช new genomic technique ประเภทที่ 1 (NGT 1): จะได้รับการพิจารณาว่า “เป็นเหมือนพืชปกติ (conventional plant) สามารถเติบโตได้ตามธรรมชาติหรือจากการผสมพันธุ์พืช” โดยจะได้รับการละเว้นไม่ต้องผ่านกระบวนการประเมินความเสี่ยงเหมือนพืช GM อย่างไรก็ดี ได้มีการบังคับให้ทำการติดฉลากพืช NGT 1 และกำหนดให้มีการประกาศบัญชีรายชื่อพืช NGT 1 ที่ได้รับการอนุญาตบนเว็บไซต์อย่างเป็นสาธารณะ 2) พืช new genomic technique ประเภทที่ 2 (NGT 2): จะได้รับการพิจารณาให้เป็นเหมือนพืช GM โดยต้องผ่านกระบวนการประเมินความเสี่ยงและคำนึงถึงหลักระวังไว้ก่อน (precautionary principle) แต่จะอนุโลมให้กระบวนการประเมินความเสี่ยงมีความซับซ้อนน้อยกว่าพืช GM เพื่อสนับสนุนให้เกิดผลดีต่อระบบสินค้าเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน และบังคับให้มีการติดฉลากเช่นเดียวกับพืช NGT 1 ซึ่งพืชกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นพืชกลุ่มที่มีความต้านทานต่อสารกำจัดวัชพืช (herbicide tolerant plants)

 

ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม สรุปโดย : มกอช.

Is this article useful?