ประเทศญี่ปุ่นโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ (MHLW) ได้ประกาศปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานส่วนประกอบของนมและผลิตภัณฑ์ของนม และระเบียบการบังคับใช้กฎหมายสุขอนามัยอาหารในส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) กำหนดมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ของนม (นมโค นมดัดแปลงส่วนผสม นมพร่องมันเนย นมขาดมันเนย นมคืนรูป ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากนม) ที่สามารถเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิสูงกว่า 10 องศาเซลเซียส ให้ชัดเจนและยกเลิกข้อกำหนดที่ให้ขอการยอมรับเป็นรายผลิตภัณฑ์จากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ
(2) กำหนดประเภทให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อก่อนบรรจุในภาชนะแบบปลอดเชื้อเป็น “ผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง” และผลิตภัณฑ์ที่ฆ่าเชื้อหลังบรรจุภาชนะเป็น “ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อหลังบรรจุ” โดยผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ประเภท จะต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส 4 นาที หรือวิธีที่ได้ผลมากกว่าหรือเทียบเท่า และต้องไม่พบจุลินทรีย์ที่ยังคงสามารถเจริญเติบโตได้ในผลิตภัณฑ์
(3) สำหรับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ได้ยกเลิกข้อยกเว้นการแนบเอกสารรับรอง สุขอนามัย (Health Certificate) สำหรับผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องที่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ส่งผลให้ “ผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง” และ “ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อหลังบรรจุ” ต้องแนบใบรับรองที่ออกโดยหน่วยงานรัฐของประเทศผู้ส่งออก หลังการปรับปรุงข้อกำหนด
(4) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2567 ทั้งนี้ กำหนดระยะเปลี่ยนผ่านสำหรับผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องที่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการอยู่ก่อนแล้ว ให้สามารถผลิตหรือนำเข้าตามเดิมได้จนถึงวันที่ 18 กันยายน 2567
ดังนั้น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงขอแจ้งให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลและปฏิบัติตามข้อกำหนดของญี่ปุ่นอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าและส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทย
ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว สรุปโดย : มกอช.